รองเลขาธิการ กพฐ. ประธานเปิดการอบรมปฏิบัติการการใช้งาน OBEC Content Center แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางของกระทรวงศึกษาธิการในด้าน Resource Teaching

รองเลขาธิการ กพฐ. ประธานเปิดการอบรมปฏิบัติการการใช้งาน OBEC Content Center แพลตฟอร์มดิจิทัลกลางของกระทรวงศึกษาธิการในด้าน Resource Teaching

วันที่ 3 และ วันที่ 5 มีนาคม 2563 ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการอบรมปฏิบัติการการใช้งานระบบคลังสื่อเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ OBEC Content Center ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางของกระทรวงศึกษาธิการในด้าน Resource Teaching ณ โรงแรม เบลล่า บี อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรในสังกัด ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน จึงจัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพระบบคลังสื่อเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ OBEC Content Center สำหรับให้บริการสื่อเนื้อหาการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลแก่นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้คุณภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กล่าวถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน โดยแพลตฟอร์ม OBEC Content Center ที่พัฒนาโดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) จะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับนักเรียน ครู บุคลากรทรงการศึกษา และประชาชน ให้มีทางเลือกในการจัดการเรียนรู้ได้ตามบริบทและความเหมาะสมของตอนเอง หรือประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลของกระทรวงศึกษาธิการ

ในการอบรมครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือ ศึกษานิเทศก์จากทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ 1 คน รวม 225 คน แบ่งออกเป็น 2 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2563 และ รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2563  ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้และทักษะการติดตั้งชุดโปรแกรมตลอดจนการใช้งานต่าง ๆ เพื่อนำไปขยายผลยังโรงเรียนและหน่วยงานในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ

สำหรับแพลตฟอร์ม OBEC Content Center ประกอบด้วยชุดโปรแกรม แอปพลิเคชัน และระบบที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบครบวงจร 5 ส่วน ได้แก่

  1. Authoring Tool (AT): โปรแกรมสร้างและอัปโหลดเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์
  2. Content Verification System (CVS): ระบบตรวจสอบเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์
  3. Content Center (CC): แอปพลิเคชันใช้งานเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์
  4. Content Management System (CMS): ระบบบริหารจัดการเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์
  5. Local Content Server (LCS): ระบบให้บริการเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์

โดยมีเนื้อหาสำหรับให้บริการ 8 ประเภท ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชั่น วีดิทัศน์ เสียง ภาพ ข้อสอบ เทมเพลต และแฟลชมัลติมีเดีย พร้อมรองรับการค้นหาและการกรองเนื้อหาตามหมวดหมู่เนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 3 หมวดหมู่ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ระดับชั้น และระบบทศนิยมดิวอี้ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดตัวให้ใช้งานทั่วประเทศได้ภายในเดือนมีนาคมนี้