สพป.ยะลา เขต 3 ประชุมหารือแนวทางการลดความแออัดของบุคลากรในสำนักงาน เพื่อคุมเข้มและป้องกัน เชื้อไวรัส COVID-19 ในภาวะฉุกเฉิน

วันที่ 26 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. นายโกมุท  รุยอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) เพื่อหารือแนวทางการลดความแออัดของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อคุมเข้มและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตามข้อกำหนดในมาตรา 9 การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินตามข้อ 11 มาตรการป้องกันโรค ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไปหรือใช้ในกรณีผ่อนผันหรือยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด และ ข้อ 12 นโยบายยังคงในเปิดสถานที่ทำการ สถานที่ราชการ ยังคงเปิดดำเนินการในวันและเวลาราชการตามปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมิให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์หรือละเมิดกฎหมายที่มีกำหนดเวลาให้ปฏิบัติ  แต่ควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น การจัดเหลื่อมเวลาทำงานและพักเที่ยง  การทำงานนอกสถานที่ปกติ และให้เพิ่มบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ทั้งนี้มีผู้อำนวยการกลุ่มงานทุกกลุ่ม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมร่มเย็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3

นายโกมุท  รุยอ่อน  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 นั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความห่วงใยบุคลากรในการปฏิบัติงานในสำนักงาน จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) เพื่อหารือแนวทางการลดความแออัดของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อคุมเข้มและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ในเรื่องการกำหนดร่างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ COVID-19 ตามมาตรการการสลับบุคลากรในการทำงาน  ข้อตกลงเกี่ยวกับภารกิจที่ปฏิบัติงานภายในบ้านพัก (Work at Home) การจัดทำตารางการมาปฏิบัติงานของบุคลากร และร่างแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ระดับสถานศึกษา (กรณีไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 แต่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนปกติได้ ทั้งนี้จากมติการประชุมกำหนดให้ดำเนินการจำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วยข้อแรกลดความแออัดในการปฏิบัติงาน  โดยการทำงานแบบครึ่งวันสลับกัน ทั้งนี้ให้ทุกกลุ่มงานจัดทำตารางการมาปฏิบัติงานของบุคลากร ตั้งแต่ระดับชำนาญการลงไป ยกเว้นคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการกลุ่ม  และกลุ่มแม่บ้าน พนักงานขับรถ เวรยามรักษาความปลอดภัยให้ทำงานตามปกติ  ข้อที่ 2 หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือผู้มาใช้บริการหลีกเลี่ยงการมาติดต่อราชการ หรือหากมีความจำเป็นให้ติดต่อผ่านระบบ ICT ออนไลน์  ระบบ My-office/ AMSS++หรือส่งงานทางช่องทางApplication ต่างๆ เช่น Line/ inbox facebook / E-mail ฯลฯ ในแต่ละกลุ่มกำหนด  ข้อที่ 3 กำหนดการประชุมการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)  สัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ข้อที่ 4 สำรวจสถานการณ์ของสถานศึกษา บุคลากร ครู ชุดรักษาความปลอดภัยครู และผู้เกี่ยวข้องรายงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบผ่านระบบ Google Form ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ ข้อที่ 5 กำหนดให้มีการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อหารือแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรตติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระดับสถานศึกษา (กรณีไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 แต่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนปกติได้) และข้อที่ 6 หากสถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงขึ้น จะปรับมาใช้การทำงานแบบ Work at Home ต่อไป

ด้านนางจิราภรณ์  หนูแทน ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อกำหนดที่ให้มีการลดความแออัดของบุคลากรในสำนักงานให้มีการทำงานที่บ้าน (Work at Home) ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกลุ่มบริหารงานบุคคลมีสมาชิกจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น และได้ดำเนินการสำรวจบุคลากรในกลุ่มด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกรณีผู้อำนวยการกำหนดให้มีการทำงานที่บ้านประกอบกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ดำเนินการทำงานผ่านระบบ ICT ออนไลน์ อยู่แล้วทำให้ง่ายขึ้นในการทำงานที่บ้าน

เกสรี ปชส.สพป.ยะลา เขต 3 ภาพ/ข่าว