วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โดยมี นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
นายเอกชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กพฐ. ได้หารือถึงกระบวนการขั้นตอนในการรับนักเรียนที่ได้มีการเลื่อนการสอบไปเป็นวันที่ 6-7 มิถุนายน 2563 เนื่องจากรัฐบาลได้ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม รวมถึงการแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับร่างประกาศกฎกระทรวงในการควบรวม-เลิกสถานศึกษาซึ่งต้องมีการปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น และถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อปรับแล้วอะไรที่เป็นอุปสรรคจากระเบียบเก่าก็สามารถแก้ไขให้เข้ากับปัจจุบันได้ ส่วนการขอควบรวมและเลิกสถานศึกษาในวันนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอควบรวม 13 แห่ง และเลิกสถานศึกษา 11 แห่ง
อีกเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกันคือเรื่องการเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ โดย สพฐ. ได้จัดเตรียมไว้หลายรูปแบบ ซึ่งครูสามารถใช้รูปแบบแบบผสมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากมีความพร้อมจะสอนในห้องเรียนก็ได้เช่นกัน โดยการเรียนการสอนไม่ได้เน้นเพียงการสอนออนไลน์ แต่จะสอนอย่างไรให้สามารถบูรณาการความรู้ได้ ไม่ได้เน้นเนื้อหาที่สอน แต่เน้นการเรียนแบบบูรณาการ
ส่วนเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ และจะประชาสัมพันธ์ให้ครูได้ทราบว่ามีความแตกต่างจากหลักสูตรเดิมอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ครูได้เตรียมพร้อม คาดว่าจะกระทบกระบวนการเรียนการสอนใหม่ของครูอยู่บ้าง ตรงนี้อาจจะต้องมีคู่มือครูที่ชัดเจน มีแนวทางให้ครูปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น จากการเรียนแบบเดิมก็จะต้องมีการบูรณาการไปด้วยกัน เพื่อให้เด็กเลือกอาชีพตามความถนัดและความสนใจได้ โดยสิ่งที่อยากจะเห็นจากการเรียนในฐานสมรรถนะคือจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงพบปัญหาในบางเขตพื้นที่บางโรงเรียนที่ยังคงเคี่ยวเข็นให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดี มีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นทุกปี ซึ่งแทนที่เราจะมุ่งเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ น่าจะมีรายงานด้านพัฒนาการของเด็กที่มีความก้าวหน้าทุกปี ก็จะทำให้เราพัฒนาได้เต็มที่มากกว่า
“นอกจากนั้นได้ฝากเลขาธิการ กพฐ. ในเรื่องของโรงเรียนมัธยมที่มีการแข่งขันสูง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ให้นำนักเรียนที่สอบติดมาขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนว่าสอบติดคณะที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มชื่อเสียงให้โรงเรียน โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ “ ประธาน กพฐ. กล่าว
ศนท.สพฐ./ ภาพ : รายงาน