สพฐ.รับฟังกรมอนามัย ให้สถานศึกษาประเมินความพร้อม 6 มิติ ก่อนเปิดเรียน

วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ที่ปรึกษาพิเศษ สพฐ. พร้อมด้วยนางสาววัลลา เรือนไชยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน ในฐานะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมติดตามการเยี่ยมเสริมพลัง และหารือแนวทางเพื่อผ่อนผันให้เปิดสถานศึกษา ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ณ โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

หลังเสร็จสิ้นการตรวจเยี่ยมโรงเรียน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำว่า การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้อง เปิดเรียนหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตนของนักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา และการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ ห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร  รถรับส่งนักเรียน หอพักนักเรียน ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความพร้อมโดยใช้กรอบแนวทาง 6 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโรคด้วย 6 มาตรการหลัก คือ 1 มีมาตรการคัดกรอง วัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2 สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3 ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างพอเพียง 4 จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5 ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6 ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน

ต่อมาคือมิติที่ 2 การเรียนรู้ โดยสนับสนุนสื่อความรู้ป้องกันโรคโควิด-19 เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของเด็กตามวัยและสอดคล้องกับพัฒนาการ และสร้างความเข้มแข็งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มิติที่ 3 การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง มีการเตรียมแผนรองรับด้านการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนป่วย แนวปฏิบัติเพื่อลดการรังเกียจและการตีตราทางสังคม (Social stigma) มิติที่ 5 นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่และสื่อสาร และมิติที่ 6 การบริหารการเงิน โดยพิจารณาการใช้งบประมาณสำหรับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ นอกจากสถานศึกษาจะต้องควบคุมมาตรการและปฏิบัติตามคำแนะนำในทุกมิติแล้ว ในส่วนของผู้ปกครองซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด สามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ได้ด้วยเช่นกัน โดยติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง สังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากมีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ให้รีบพาไปพบแพทย์ และควรแยกเด็กไม่ให้ไปเล่นกับคนอื่น ให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ มีการจัดหาของใช้ส่วนตัวให้บุตรหลานอย่างพอเพียงในแต่ละวัน ทำความสะอาดทุกวัน เช่น หน้ากากผ้า ช้อนส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รวมทั้งจัดหาสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และกำกับดูแลบุตรหลานให้ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือหลังใช้สุขา หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น สร้างสุขนิสัยที่ดี หลังการเล่นกับเพื่อนหรือสัมผัสสิ่งสกปรก และเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องรีบอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที

ศนท.สพฐ./ ภาพ : รายงาน