ที่ปรึกษา สพฐ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน สพป.อุดรธานี เขต 1 ติดตามผลการทดลองเรียนทางไกลในช่วง COVID-19

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ ตรวจสอบความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนทางไกล ณ ห้องประชุมพระราชธีราภรณ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 โดยมีนายพรชัย โพคันโย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1  ผู้อำนวยการกลุ่มงานในสังกัด ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรในสังกัด เข้าร่วมต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงาน และปัญหาที่เกิดขึ้น ในช่วงการทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด 220 แห่ง นักเรียน 38,529  คน จากการสำรวจความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนทางไกล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ปกติ พบว่า โรงเรียนมีความพร้อมเปิดเรียน ร้อยละ 100 ครูมีความพร้อม ร้อยละ 100 นักเรียนมีความพร้อม 26,333 คน คิดเป็นร้อยละ 68.35  และจากสถานการณ์ปัจจุบัน รูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในวันเปิดภาคเรียน 1 กรกฎาคม 2563 มี 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่หนึ่ง ให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน มีจำนวน 218 โรงเรียน คิดเป็น ร้อยละ 99.09 และรูปแบบที่สอง จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน โดยให้นักเรียนมาเรียนปกติที่โรงเรียน และเรียนผ่านโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต มีจำนวน 2 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 0.91

ในการตรวจราชการครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน จำนวน 2 หลัง ได้แก่ บ้านนักเรียนโรงเรียนบ้านหมากแข้ง จำนวน 1 หลัง และบ้านนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านเดื่อวิทยา จำนวน 1 หลัง จากการลงพื้นที่ พบปัญหาที่เกิดขึ้น คือ

1. ด้านผู้ปกครอง ฐานะยากจน ต้องออกไปประกอบอาชีพ ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน ไม่รู้ ไม่เข้าใจในเนื้อหา ไม่สามารถดูแล แนะนำนักเรียนในการเรียนการสอนได้

2. ด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ บ้านนักเรียนไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ที่จะทำให้เข้าถึงการจัดการเรียนการสอนทางไกลได้ หรือ มีแต่รับสัญญาณไม่ได้ ค้นหาช่องสัญญาณไม่ได้ บ้านไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต

3. ด้านนักเรียน เรียนไม่ทัน เนื้อหายาก ไม่สนใจ  ขาดสมาธิ  ไปทำงานกับผู้ปกครอง

          ทางโรงเรียนได้แก้ไขปัญหา โดย ให้ครูออกเยี่ยมบ้าน ชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ถึงบทบาทหน้าที่ ในการช่วยครู ในการจัดการเรียนการสอนทางไกล ให้คำแนะนำการติดตั้งและปรับจูนเครื่องรับสัญญาณ แจ้งเวลาและช่องทางรับชมย้อนหลัง จัดทำใบงานประกอบการเรียนรู้และจัดส่งให้นักเรียนถึงบ้าน จัดตั้งช่องทางสื่อสารกับผู้ปกครองโดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ อธิบายเนื้อหาเพิ่มเติม ในส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจ

นอกจากนี้ กรณี ไม่มีความพร้อม ได้จัดให้ไปเรียนกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีความพร้อมและมีผู้ปกครองสามารถดูแล ให้คำแนะนำได้ และนำมาเรียนที่โรงเรียนโดยมีครูกำกับดูแล โดยแนะนำให้ทำตามมาตรการ Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้เน้นย้ำกับคณะผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ให้เตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฏาคม 2563 นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในรูปแบบใด เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของนักเรียนให้ดำเนินไปได้ ตามแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้”