สพฐ. จัดประชุมทางไกลปฐมนิเทศนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่

วันที่ 22 มิถุนายน 2563 นายธีร์ ภวังคนันท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียน โดยมีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายธีร์ ภวังคนันท์ ผอ.สอ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแผนให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. ประสบปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้ง รังแกทั้งทางวาจาและร่างกาย หรือ บูลลี่ และการมีปัญหาภายในครอบครัว มีอัตราที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นภายในโรงเรียน ซึ่ง สพฐ. มองว่ายังมีนักจิตวิทยาโรงเรียนไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังสมาคมนักจิตวิทยาแนะแนว และสมาคมนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อมาให้ความรู้ด้านจิตวิทยาและการดูแลเด็กในกลุ่มต่างๆ ให้แก่ครู ผ่านการอบรม การทำคู่มือ ไปจนถึงสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งสร้างระบบการทดสอบและประเมิน เมื่อครูผ่านการทดสอบแล้ว จะมีการออกเกียรติบัตรเพื่อเป็นการรับรองด้วย

“สพฐ. จึงกำหนดให้มีการพัฒนาครูประจำชั้นเพื่อเป็นนักจิตวิทยาประจำสถานศึกษา ให้กับสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย 1 คน 1 สถานศึกษา (1 School 1 Psychologist) เพื่อให้ครูประจำชั้นซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด มีสมรรถนะในการนำจิตวิทยาไปใช้ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน นอกจากนั้น สพฐ. ยังเห็นว่าควรที่จะมีนักจิตวิทยาประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต เขตละ 1 คน จึงได้ดำเนินการเสนอขออัตราพนักงานราชการ ตำแหน่งนักจิตวิทยา จำนวน 225 อัตรา เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งมีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขภายในพื้นที่ด้วย โดยหวังว่าจะเป็นการป้องกันเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และมีทักษะชีวิตที่ดีขึ้น” นายธีร์ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากประธานในพิธีมอบนโยบายการปฏิบัติงานแล้ว ยังมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ นายชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน กล่าวปฐมนิเทศแก่นักจิตวิทยาโรงเรียน นางสาวศศกร วิชัย นักจิตวิทยาคลินิกเชี่ยวชาญ วิทยากรจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บรรยายเรื่อง “บทบาทนักจิตวิทยาโรงเรียนในการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่” และนายอนันต์ นามทองต้น รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 2 บรรยายแผนการฝึกอบรมครูประจำชั้นเพื่อเป็นนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เป็นต้น

สำหรับนักจิตวิทยาโรงเรียน คือผู้ช่วยเหลือและแนะนำนักเรียนให้ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา สังคม และอารมณ์เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยให้คำปรึกษาและแนะแนว ประสานงานกับครู ผู้ปกครองและผู้บริหาร เพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจพัฒนาการของเด็กและผลกระทบที่มีต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างครู ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น รวมถึงให้คำแนะนำด้านจิตวิทยาเพื่อช่วยแก้ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หรือปัญหาในครอบครัวที่มีผลกระทบต่อผลการเรียน ให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่นักเรียนและครอบครัวเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการปรับตัวและการเรียนรู้ และพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้ปกครองเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของเด็ก

อัฉรา ข่าว