วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำหรับใช้ประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียน โดยมี นายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผอ.สนก.สพฐ.) พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้องพิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนโยบายสำคัญคือ “การปลูกจิตสำนึก เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีความเป็นไทย” กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความตระหนักในความสำคัญและได้นำนโยบายนี้มาดำเนินการผ่านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ด้วยนโยบายเสริมสร้าง “การอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย” ที่ครูต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนการสอนด้วยการมีนวัตกรรมที่ทันสมัยให้นักเรียน สามารถเรียนประวัติศาสตร์ไทย “อย่างเข้าใจ สนุก และท้าทาย” สามารถนำบทเรียนในอดีตมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในปัจจุบัน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในประวัติความเป็นมาของชาติตน นำไปสู่การมีสำนึกรักชาติในที่สุด ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ นักเรียนจะเรียนรู้โดยการฟังจากคำบอกเล่าของครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่น่าสนใจ ไม่สนุก ไม่สามารถเข้าถึงแก่นของประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันจึงมีการพัฒนานวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัย เพื่อนักเรียนสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยได้ด้วยตนเอง สนุก เข้าใจง่าย ได้ทั้งความรู้และข้อคิด รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้กับนักเรียนอีกด้วย สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางพัฒนาความคิด โดยนวัตกรรมที่กล่าวมานี้ เรียกว่า “สื่อเสมือนจริง” หรือ “AR” (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกระหว่างความจริงกับการจำลองให้เข้ารวมเป็นสิ่งเดียวผ่านการมองผ่านอุปกรณ์ ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีความสนุก ท้าทาย และน่าสนใจ
ด้านนายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสมือนจริง (AR) ส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย และมุ่งหวังให้ครูปรับเปลี่ยนวิธีสอนส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เพิ่มขึ้นในสาระประวัติศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำหรับใช้ประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจภักดิ์ รักษ์ความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย จากธนบัตรอันทรงคุณค่า” โดย ธนบัตร คือสิ่งที่ทุกคนต้องใช้หยิบจับในแต่ละวัน มีภาพหลายอย่างปรากฏอยู่ มีเรื่องเล่าความเป็นมา สื่อให้เห็นถึงประวัติในยุคนั้น ๆ แต่ละภาพจึงมีเรื่องราวที่ทรงคุณค่าควรจดจำ รับรู้ และบอกต่อ การย้อนกลับไปสู่ภาพต่าง ๆ บนธนบัตร นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง (AR) เป็นเทคโนโลยีที่นำเอาภาพ 3 มิติมาผสมผสานกับสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อแสดงผลออกมาคล้ายกับวัตถุ 3 มิติ ทำให้เทคโนโลยีสื่อเสมือนจริงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญยิ่ง สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน และยังเป็นการสร้างลักษณะนิสัยให้นักเรียนและเยาวชนไทยเป็นผู้ช่างสังเกตและเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ชาติต้องการ ทั้งยังเป็นการเรียนในรูปแบบใหม่ทำให้ ครูผู้สอน นักเรียนและเยาวชนรู้สึก สนุก ท้าทาย และ เข้าถึงได้ง่าย ทุกที่ ทุกเวลา อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมหลัก คือการแสดงนวัตกรรมสื่อเสมือนจริง (AR) บนธนบัตรมูลค่า 20 บาท ซึ่งจะแสดงภาพสื่อเสมือนจริง (AR) 2 ส่วนที่ปรากฏด้านหลังธนบัตรด้วยกัน ได้แก่ ภาพสื่อเสมือนจริงพระบรมมหาราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และภาพสื่อเสมือนจริง บทประพันธ์เรื่องอิเหนา ตอน บุษบาเดินทางไปรดน้ำมนต์กับพระฤาษี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เพื่อต่อยอดการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในอดีตที่ไม่น่าสนใจ ไม่สนุก ให้กลับมาน่าสนใจ สนุก ท้าทาย และเข้าใจในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ทำให้นักเรียนและเยาวชนเกิดความสำนึกรักในชาติที่เหมาะสม โดยขณะนี้แอปพลิเคชันที่ใช้ในการแสดงสื่อเสมือนจริง (AR) บนธนบัตร กำลังอยู่ในขึ้นตอนการพัฒนาเพื่อนำไปใช้กับธนบัตรมูลค่าอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สนก.สพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับ สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักวิชาการและมาตรฐานมาตรฐานการศึกษา และสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้พัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำหรับใช้ประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ให้เป็นสื่อที่สามารถถ่ายทอดให้ผู้เรียนเกิดความตระหนัก รับรู้และเข้าถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ หลากหลายช่องทาง นอกจากนั้นเป็นนวัตกรรมสื่ออีกรูปแบบหนึ่งซึ่งครูสามารถประยุกต์ใช้สื่อในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาเครื่องมือการวัดประเมินผลผู้เรียนได้ เช่น การประเมินผลงานหรือชิ้นงานการเขียนจากการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน สะท้อนให้เห็นศักยภาพของผู้เรียนซึ่งสอดคล้องศักยภาพด้านภาษาและกระบวนการคิดอื่น ๆ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องการให้ผู้เรียนได้พิจารณาการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน โดยครูสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการจัดการเรียนในสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไป
ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน