เลขาธิการ กพฐ. ลงพื้นที่อุดรธานี ตรวจความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2563 เวลา 07.30 น. นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายพรชัย โพคันโย ผอ.สพป.อุดรธานี เขต 1 และ หัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 1/2563
ณ โรงเรียนอนุบาลอุดรธานี โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล โรงเรียนอุดรพัฒนาการ และโรงเรียนบ้านเลี่ยมพิลึก โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านความปลอดภัยการเปิดสถานศึกษาตาม 6 มาตรการหลัก คือ
1) มาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา
2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกฮอล์อย่างเพียงพอ
4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง
5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย
6) ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน อีกทั้งได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงอาหาร และติดตามการจัดทำอ่างล้างมือหน้าและในโรงเรียน ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

จากนั้น เลขาธิการ กพฐ. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในการประชุม สรุปภาพรวมและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ผ่านระบบ Video Conference พร้อมด้วย  นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (Cluster 10) 15 เขต ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ) หัวหน้าส่วนการศึกษาในจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยการประชุมถ่ายทอดสดไปยังโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในกลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10

นายพรชัย โพคันโย ผอ.สพป.อุดรธานี เขต 1 ในนามประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การบริหาร การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 (ประธานเขตตรวจราชการที่ 10) ได้รายงานสรุปภาพรวมการประเมินความพร้อมและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของเขตพื้นที่การศึกษา ในเขตตรวจราชการที่ 10 และการจัดทำอ่างล้างมือแบบกด งดสัมผัส ตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 220 โรงเรียน ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 188 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 85.45 ระดับสีเหลือง 32 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 14.55 และไม่มีผลประเมินในระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติ ร้อยละ 90.91 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ร้อยละ 9.09 และมีอ่างล้างมือในโรงเรียน รวมทั้งสิ้น 2,421 อ่าง

5 เขตพื้นที่การศึกษา ในจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย สพป.อุดรธานี เขต 1 – 4 และสพม. เขต 20 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น 823 โรงเรียน มีผลการประเมินตนเอง ในระดับสีเขียว 754 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 91.62 ระดับสีเหลือง 69 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 8.38 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติ ร้อยละ 85.66 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ร้อยละ 14.34 และมีอ่างล้างมือ รวมทั้งสิ้น 8,730 อ่าง

กลุ่มพื้นที่การบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตตรวจราชการที่ 10 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งสิ้น  2,137  โรงเรียน  ผลการประเมินตนเองของโรงเรียนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในระดับสีเขียว 1,998 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 93.50 ระดับสีเหลือง 139 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 6.50 และไม่มีโรงเรียนที่มีผลการประเมินระดับสีแดง มีการจัดการเรียนการสอนใน 2 รูปแบบ คือ จัดการเรียนการสอนแบบปกติ ร้อยละ 88.07 และจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ร้อยละ 11.93

ประธานเขตตรวจราชการที่ 10 กล่าวต่อไปว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 10 มีการดำเนินงานจัดการเรียนการสอน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยกำหนดกิจกรรม แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม โดยตั้งศูนย์เฉพาะกิจการเรียนการสอน สร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน สำรวจความพร้อมการเข้าถึงการรับชมของนักเรียนและผู้ปกครอง และพัฒนาครูและบุคลากรสำหรับ การเรียนการสอนทางไกล ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกล โดยให้นักเรียนทุกระดับเรียนผ่านระบบ DLTV ระบบ Online และมีคณะกรรมการออกติดตาม การเรียนการสอนที่บ้านนักเรียน พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูล สภาพความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงพัฒนา รวมทั้งกำหนดรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน ตาม 6 มาตรการหลัก ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสถานศึกษา และระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่โรงเรียนกำหนด พร้อมทั้งประเมินผลการจัดการเรียนการสอน เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาในการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ต่อไป