วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นางสาวนงลักษณ์ เรือนทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “เปิดเรียนมั่นใจ ปลอดภัย covid-19” เพื่อตรวจดูความพร้อมในการจัดการศึกษา การจัดการด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยของนักเรียน ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ เขตสายไหม กรุงเทพฯ
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากการมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ เพื่อติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการเปิดสถานศึกษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรงเรียนฯได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี ทั้งด้านสุขอนามัย สถานที่ การจัดห้องเรียน และการสลับวันเรียนของเด็ก โดยก่อนเปิดเรียนก็ได้มีการตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ ซ่อมแซม ทำความสะอาดห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องเล่นเด็ก ห้องน้ำ อ่างล้างมือ ให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน และมีสบู่ล้างมือที่เพียงพอ มีการกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นสีเขียว สีส้ม สีแดง โดยสีเขียวเป็นสถานที่ปลอดภัย เช่น สนาม สีส้มคือสถานที่ที่มีความปลอดภัยปานกลาง เช่น ห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการ และสีแดงคือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น จุดคัดกรอง โรงอาหาร ห้องน้ำ รวมทั้งมีการจัดสถานที่เพื่อเว้นระยะห่างของบุคคล เช่น การเข้าแถว การเข้าคิว การจัดที่นั่งเรียน การจัดที่นั่งรับประทานอาหาร การจัดที่นอนตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ
ในส่วนของการรับ-ส่งนักเรียน สำหรับระดับชั้นอนุบาล ให้ครูทุกคนออกมารับเด็กที่หน้าโรงเรียน ยืนตามจุด และเข้าออกทางเดียว มีพี่เลี้ยงคอยรับเด็กอยู่ในโรงเรียน เมื่อเลิกเรียนให้ครูประจำชั้นออกมาส่งเด็กเป็นรายบุคคล สำหรับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้ครูเวรประจำวันออกมารับเด็กที่หน้าโรงเรียน ยืนตามจุด เข้าออกทางเดียว และเมื่อเลิกเรียนให้ครูประจำชั้นออกมาส่งเด็กเป็นรายบุคคล ขณะที่การจัดที่นอนสำหรับนักเรียนอนุบาล ให้เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 ฟุต โดยไม่เอาศรีษะชนกัน แยกอุปกรณ์เครื่องใช้เป็นของส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกัน หากกรณีที่มีเด็กป่วยให้หยุดอยู่บ้าน และแจ้งผู้ปกครองที่บุตรหลานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงและอยู่ในช่วงกักตัว ให้หยุดเรียน 14 วัน รวมทั้งขอความร่วมมือกรณีที่มีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนได้จัดแบบผสมผสาน คือ การจัดการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนนำมาผสมผสานกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ครูและนักเรียนไม่ได้เผชิญหน้ากัน หรือการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย โดยโรงเรียนเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เป็นแบบสลับชั้นมาเรียนของนักเรียนกลุ่ม a และกลุ่ม b คือนักเรียนมาเรียนสลับกันวันละครึ่งห้อง ให้นักเรียนเลขที่คี่มาเรียนวันคี่และนักเรียนเลขที่คู่มาเรียนวันคู่ ในแต่ละห้องจัดเรียนห้องละ 20-25 คน และเว้นระยะห่างของโต๊ะและเก้าอี้ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
อัจฉรา ภาพ/ข่าว