สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ อบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบ (Master Teacher) การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ Teaching Computing Science

สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑  อบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบ (Master Teacher) การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ Teaching Computing Science เพื่อครูต้นแบบสามารถออกแบบการเรียนรู้สำหรับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓

เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่หอประชุมพิมานพรหม สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ นายประยงค์ เลาลักษณ์จรรยา รอง ผอ.สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ รักษาราชการแทน ผอ.สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาศักยภาพครูต้นแบบ (Master Teacher) การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ Teaching Computing Science เพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ และสามารถจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเตรียมแผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดประเมินผล นำไปใช้ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ตามนโยบายที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด สร้างครูต้นแบบ (Master Teacher) สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ที่จัดการเรียนรู้วิชาวิทยาการคำนวณได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถถ่ายทอดไปสู่ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณในสังกัดได้ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอย่างยั่งยืนในการพัฒนาการเรียนการสอนสาระที่ ๔ เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) สร้างความตระหนักให้ครูผู้สอนด้านการวัดและประเมินผลที่เป็นแกนนำในการสร้างเครื่องมือประเมินสมรรถนะผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาสร้างความเข้มแข็งครูผู้สอนด้านการวัดและประเมินผลในการออกแบบสร้างเครื่องมือประเมินสมรรถนะผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ครูผู้สอนวิทยาการคำนวณ ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มโรงเรียน กลุ่มละ ๗ คน แบ่งเป็น ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ จำนวน ๖ คน ครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ จำนวน ๑ คน รวมทั้งสิ้น ๑๔๐ คน วิทยากรผู้ให้ความรู้ นายวุฒินันทร์  พรนิคม ศึกษานิเทศก์ สพป.มหาสารคาม เขต ๒ นายกิตติศักดิ์ มครนันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบวกแต้บวกเตย สพป.ศรีสะเกษ เขต ๑ และคณะศึกษานิเทศก์ จาก สพป.บุรีรัมย์ เขต ๑ ร่วมเป็นวิทยากร

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๑ ตระหนักถึงความสำคัญของสาระที่ ๔ เทคโนโลยีที่มีเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจแนวคิดเชิงคำนวณเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง มีทักษะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคำนวณและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเปฯกรเีกในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม ดังนั้น ครูต้นแบบ (Master Teacher) สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด สามารถออกแบบการเรียนรู้และประเมินผู้เรียนสำหรับการเรียนการสอนวิทยาการคำนวณได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากครูต้นแบบไปสู่ครูผู้สอน ตลอดจนร่วมกันสร้างเครือข่ายครูผู้สอนวิทยาการคำนวณให้บรรลุตามเป้าประสงค์ของหลักสูตร อันจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้อย่างแท้จริง