วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 นายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายวัลลพ สงวนนาม ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. และนางสุดา สุขอ่ำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ลงพื้นที่ติดตามการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในสังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นการสอบสัมภาษณ์วันสุดท้าย โดยมีผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินรวมทั้งสิ้น 955 คน มีตำแหน่งว่างรวม 57 อัตรา ณ สนามสอบมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การสอบคัดเลือกรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. ในวันนี้เป็นการสอบสัมภาษณ์วันที่ 2 หลังจากเสร็จสิ้นการสอบวันที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสอบ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยดำเนินการสอบคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กคศ. กำหนด มีผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมิน รวมทั้งสองวันจำนวน 955 คน แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 792 คน และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 163 คน โดยมีตำแหน่งว่าง รวม 57 อัตรา แบ่งเป็นสังกัด สพป. จำนวน 41 อัตรา และสังกัด สพม. จำนวน 16 อัตรา
“สำหรับความคาดหวังของ สพฐ. นั้น เราต้องการให้ผู้บริหารเก่งรอบด้าน มีความรู้ความสามารถในทุกด้าน หรืออาจจะเด่นบางอย่างได้ตามศักยภาพของแต่ละคน เราอยากได้คนที่เก่งทั้งทางด้านวิชาการ ด้านบริหาร ด้านเทคโนโลยี รวมถึงเพิ่มเติมทางด้านภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้นในช่วงเวลาของการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง เราก็จะพัฒนาเขาในทุกๆ ด้านให้เป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นทักษะภาษาต่างประเทศ ความรู้ด้านดิจิทัล รวมถึงหลักวิชาการและการบริหาร ซึ่งเราเรียกว่าความเป็นผู้นำ (leadership) ทางวิชาการ ซึ่งการที่ทุกคนสามารถสอบผ่านมาได้ เราก็เชื่อมั่นว่าเขตพื้นที่การศึกษาจะมีผู้บริหารที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ การสอบ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ใช้วิธีการประเมินวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาเขตพื้นที่การศึกษา ทำการประเมินในระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2563 และดำเนินการสอบสัมภาษณ์ ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2563 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก ภายในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 และจะมีการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จำนวนไม่น้อยกว่า 30 วัน แล้วจึงบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ตามจำนวนตำแหน่งว่าง โดยขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เป็นต้นไป
ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน