สพฐ. แจ้งเตือน สพท.- สถานศึกษา พร้อมแนวทางรับมือสถานการณ์ดีเปรสชัน “ซินลากู”


วันที่ 3 สิงหาคม 2563 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001 /ว4021 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2563 แจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขต เรื่อง แจ้งเตือนสถานการณ์พายุดีเปรสชัน ซินลากู (SINLAKU) โดยมีเนื้อความว่า

ด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา มีประกาศ ฉบับที่ 10 (150/2563) ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรื่อง พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน ซินลากู) (SINLAKU) เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2563 พายุมีศูนย์กลางอยู่ที่ อําเภอปัว จังหวัดน่าน ประเทศไทย จากอิทธิพลของพายุดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทย มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งอาจทําให้น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563

สพฐ. มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงขอให้ สพท. แจ้งสถานศึกษาในสังกัด ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์ข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยขอให้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์อุทกภัย ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนทราบ หากเกิดสถานการณ์สามารถประสานขอความช่วยเหลือได้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เบอร์โทรศัพท์ 0 2637 3000 และ 0 2243 0020 ถึง 27 หรือ สายด่วน 1784

พร้อมนี้ สพฐ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนที่ประสบอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ ห้องศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. อาคาร สพฐ. 2 ชั้น 2
เบอร์โทรศัพท์ 0 2288 5567 ,0 2288 5581 และ 0 2288 5570 โทรสาร 0 2281 2271 E-mail : efpad.p@gmail.com
.
และขอให้ดําเนินการตามแนวทางการดําเนินงานเมื่อเกิดวาตภัย หรือภัยจากพายุ ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นระดับ สพท. และระดับสถานศึกษา ดังนี้
.
การปฏิบัติเมื่อเกิดวาตภัยระดับ สพท.
1. ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวาตภัย
2. จัดตั้งหน่วยงาน ศูนย์ให้ความช่วยเหลือเฉพาะกิจ ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที เมื่อเกิดวาตภัย
3. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาวาตภัย
4. สนับสนุนปัจจัยที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตในพื้นที่ประสบภัย
5. มีแผนการดําเนินการ เพื่อการระงับควบคุมสถานการณ์เบื้องต้นเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และเอกสารที่สําคัญ
การฟื้นฟูหลังการเกิดวาตภัยระดับ สพท.
1. ประสานงานกับส่วนราชการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยเบื้องต้น
2. มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาระยะเร่งด่วนดําเนินการโดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
3. ฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว
4. ดูแล ช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย และสนับสนุนปัจจัยที่จําเป็นในการดํารงชีวิตเบื้องต้น
และการปฏิบัติเมื่อเกิดวาตภัยระดับสถานศึกษา
1. การตั้งเวรยามรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการ
2. ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูง พ้นจากระดับน้ำท่วม เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและฝนตก หนักต่อเนื่อง
3. รายงานผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัด
4. สั่งปิดสถานศึกษาเมื่อประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าอาจเกิดอันตรายแก่นักเรียน
5. การวางมาตรการและการจัดระบบการเดินทางของนักเรียน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไป – กลับ โรงเรียนของนักเรียน
6. ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
7. ประมาณการความเสียหาย รายงานของบประมาณ เพื่อซ่อมแซมให้สถานศึกษาสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว
การฟื้นฟูหลังการเกิดวาตภัยระดับสถานศึกษา
1. สํารวจและประมาณการความช่วยเหลือ พร้อมรายงานขอรับงบประมาณสนับสนุน จากหน่วยงานต้นสังกัด
2. ซ่อมแซมอุปกรณ์ สถานที่ ที่ยังสามารถใช้งานได้ ปรับสภาพให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติโดยเร็ว
3. รายงานความเสียหายและประมาณการค่าเสียหายแก่หน่วยงานต้นสังกัดทราบ
4. ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟูครอบครัวนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย

ทั้งนี้ ต้องรายงานสถานการณ์ให้ สพฐ. ทราบทันทีที่ https://goo.gl/1YYNCD เพื่อเป็นข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

ศนท.สอ.รายงาน