“ครูกัลยา” เปิดโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ยกระดับการเรียน-การสอนประวัติศาสตร์ไทย มุ่งพัฒนาจิตสำนึกรักชาติ

วันที่ 3 กันยายน 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ดึงสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาจับมือวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว. สร้างและพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนสื่อร่วมสมัย ใช้เพลงแร็พ แหล่ หมอลำ นำสู่บทเรียน ยกระดับการเรียน-การสอนประวัติศาสตร์ไทย โดยมี นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า โครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการและวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร  วิโรฒ เพื่อมุ่งพัฒนาจิตสำนึกของความรักชาติให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน ตามนโยบายการอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย หนึ่งในนโยบายหลัก ที่ช่วยปฏิรูปการศึกษาไปสู่ผู้เรียนโดยตรง

“ประวัติศาสตร์มีหลายมิติ สามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุก ไม่ใช่แค่การท่องจำแบบในอดีต..ดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์มาก เพราะจะทำให้ทั้งครูและผู้เรียน เข้าใจพื้นฐานของตนและได้เรียนรู้ความสำเร็จหรือข้อผิดพลาด เป็นการนำบทเรียนในอดีตมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในปัจจุบันตลอดจนก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในประวัติความเป็นมาของชาติตน และนำไปสู่การเกิดสำนึกความรักชาติ และมีความภูมิใจในความเป็นชาติไทย” คุณหญิงกัลยา กล่าว

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนวัดและประเมินผล เพื่อการทดสอบวัดผลการเรียนรู้ด้านทักษะความรู้ ความสามารถ และคุณภาพของผู้เรียน ดังนั้นโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย การอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย จะเป็นการยกระดับการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ให้นักเรียนได้เรียนประวัติศาสตร์ไทยด้วยความสนุก ผ่านรูปแบบสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้นโยบายการอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย จะเน้นให้ครูช่วยกันปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนการสอนด้วยการมีนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัยให้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์ไทยด้วยความสนุก ผ่านรูปแบบสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชน ที่สอดคล้องตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละแห่ง เช่น เพลงแร็พ แหล่ หมอลำ รวมทั้งการจัดทำคลิปวีดีโอนำเข้าสู่บทเรียนที่มีศิลปินนักแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กและเยาวชน

ด้าน นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ในฐานะหน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมและประเมินคุณภาพผู้เรียน การสอนประวัติศาสตร์แบบสื่อออนไลน์เพื่อตอบสนอง สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 และโลกในศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ มีความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย มุ่งหวังให้ครูปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ส่งผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เพิ่มขึ้นในสาระประวัติศาสตร์ ปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ในความรักชาติ ผ่านการเรียนรู้ร่วมสมัยด้วยความสุข สนุก เปิดรับการเรียนรู้ด้วยมิติต่าง ๆ ในอดีตสู่ความร่วมสมัยในปัจจุบันและสอดคล้องกับนโยบาย การเรียนรู้ในทักษะศตวรรษที่ 21

สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มีความพร้อมทั้งบุคลากร และองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย พร้อมสนับสนุนการเรียนรู้โดยใช้สื่อร่วมสมัย เพื่อให้ครูสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้จะมีกิจกรรมประกอบด้วย สร้างและพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนสื่อวิดีทัศน์เสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จัดทำคู่มือการใช้สื่อวิดีทัศน์เสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย รวมถึงขับเคลื่อนการใช้สื่อวีดิทัศน์เสริมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยตามนโยบายการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัยเพื่อใช้ประเมินการคิดวิเคราะห์การอ่าน การเขียนของผู้เรียน ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความร่วมสมัย อาทิ Youtube, Facebook, Tiktok, เพลงแร็พ และเผยแพร่ไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Obec center , OBEC Channel เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน