รมว.ศธ. ย้ำ สพฐ. ต้องปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษใหม่เริ่มที่ปฐมวัย ก่อนส่งต่อเด็กสู่สายอาชีพ

วันที่ 2 พ.ย.63 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) และได้ติดตามการดำเนินงานนโยบายการจัดการอาชีวศึกษายกกำลังสอง ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต จ.ภูเก็ต โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมติดตาม

รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของอาชีวะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเพราะเป็นพื้นฐานของทุกอาชีพในสังคม ดังนั้นสิ่งที่ต้องการจะขับเคลื่อนอาชีวะใน 1-2 ปีข้างหน้าคือการปรับหลักสูตร และเตรียมเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ วันนี้ยังขาดอุปกรณ์หรือการจัดสรรที่เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้เด็กได้ลงมือจริง ทำงานจริง ไม่เป็นเพียงการปฏิบัติตามทฤษฎีเท่านั้น และต้องกล้าที่จะยุบบางสาขาที่ไม่จำเป็นออกไปซึ่งตนก็เห็นว่าทุกวิทยาลัยได้รับทราบแนวทางแล้ว ซึ่งเดิมบางวิทยาลัยอาจยึดติดกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่ได้รับ จึงขอยืนยันว่าหากเรามีโจทย์ที่ชัดเจนว่าต้องการพัฒนาตนเองไปในทิศทางไหน เป็นหน้าที่ของผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องหางบประมาณมาช่วยสร้างความเป็นเลิศให้ทุกวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องคำนึงงบอุดหนุนรายหัว เพื่อให้วิทยาลัยไปพัฒนาตนเองต่อไป

สำหรับเรื่องของการยกระดับภาษาอังกฤษของเด็กอาชีวะก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วภาษาอังกฤษก็มีอิทธิพลมาก เพียงแต่อาจจะเป็นโจทย์ที่ยากสักหน่อยหากจะอัดภาษาอังกฤษเข้าไปแบบเต็มที่ อาจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการฝึกฝน รวมถึงเทคนิคภาษาเฉพาะวิชาชีพนั้นๆ เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ และเสริมทักษะเพิ่มเติมในอนาคต ทั้งนี้เมื่อดูภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการแล้วก็ได้กำชับให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องมีการปรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีความเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญก่อนส่งต่อเด็กสู่สายอาชีพ อีกทั้งถ้าควบรวมโรงเรียนได้ครูภาษาอังกฤษที่จัดไปสอนที่ศูนย์ปฐมวัยต่างๆ ก็จะมีจำนวนน้อยลง ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณมากขึ้น เพราะการที่จะใช้ภาษาอังกฤษจริงๆ ให้ได้ทั้งประเทศ คงต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อสร้างพื้นฐานให้มีความเข้มแข็งอย่างที่เราต้องการ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเอาภาษาอังกฤษมาทดแทนภาษาไทย แต่ต้องการให้ใช้ภาษาอังกฤษแบบสื่อสารได้ ไม่ใช่ใช้เพื่อการสอบได้เท่านั้น

รมว.ศธ กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่อยากให้จังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดลในการยกระดับการศึกษาเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องความต้องการในด้านต่างๆ และมีความชัดเจน ทั้งด้านธุรกิจต่างๆ ไปจนถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับจังหวัด แต่ก็จะเห็นว่าในทุกอาชีพมีเรื่องของภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนหากผลักดันเด็กปฐมวัย หรือเด็กมัธยม ปูพื้นฐานด้านภาษาให้มีความพร้อมก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน