สพฐ. ติดตาม รมว.ศธ. ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เตรียมพร้อมยกระดับการศึกษาประจำจังหวัด


เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมประชุมวางแผนยกระดับการศึกษาประจำจังหวัด ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และคณะทำงาน จำนวน 70 คน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเกิดจากระบบการศึกษาเป็นหลัก ดังนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการ​ (ศธ.) จึงมีแผนที่จะยกระดับรายได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยการยกระดับการศึกษา ซึ่งหลังจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยได้รับการยอมรับในคุณภาพของระบบสาธารณสุขให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงาน เพื่อสร้างศักยภาพของประเทศ โดยนอกจากการพัฒนาการศึกษาในแต่ละจังหวัด จะต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละจังหวัดด้วย

“ผมได้ลงไปดูทุกโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว และเหตุผลที่ผมเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดตัวอย่างก็เพราะว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดจำนวนไม่มาก ขนาดของจังหวัดที่ไม่ใหญ่ และเอกชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง โดยแผนในการพัฒนาการศึกษาจะต้องมีความเชื่อมต่อกันทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนาเด็กๆ ก็ต้องตอบโจทย์ของจังหวัด อย่างภูเก็ตที่มีจุดเด่นเรื่องของงานท่องเที่ยวและบริการ เรื่องของภาษาจึงมีความจำเป็น โดยการหารือวันนี้ก็เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นถึงแผนงานและนโยบายที่เป็นภาพใหญ่ภาพเดียวกัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าพวกเราร่วมมือร่วมใจกันก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาได้” รมว.ศธ. กล่าว

ขณะที่ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่ผ่านมาเราสามารถทำได้ครอบคลุมพอสมควร แต่ยังขาดในเรื่องของคุณภาพคน โดยปัจจัยที่ทำให้คนมีคุณภาพก็คือโรงเรียนต้องมีคุณภาพ ซึ่งโรงเรียนจะมีคุณภาพได้ก็ต้องมีครูที่มีคุณภาพด้วย รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนที่เพียงพอ ในปัจจุบันจะพบว่าโรงเรียนที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วก็ยิ่งเล็กลง ขณะที่โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้นเราต้องสร้างโรงเรียนคุณภาพให้เกิดขึ้นและกระจายไปทั่วทุกที่ ตามนโยบายของ รมว.ศธ. ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ โดยการสร้างโรงเรียนคุณภาพสามารถทำได้ด้วยการรีโนเวทจากโรงเรียนที่มีอยู่เดิม ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและมีความสามารถที่จะพัฒนาได้ ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน จะทำให้เหมือนกันทั้งหมดนั้นไม่ได้ ในส่วนนี้ จังหวัดจะเป็นฐานในการกำหนดเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็จะเห็นได้ว่าการรวมคนไม่ได้ทำให้เสียโอกาส แต่ทำให้เกิดโอกาสขึ้นมากกว่า

ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวแสดงความยินดีที่กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในการศึกษาเพื่อสร้างต้นแบบการยกระดับคุณภาพการศึกษา “เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก มีปัญหาคนยากจนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนจนในเมือง เพราะรายได้ของคนในจังหวัดส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวและงานบริการ ซึ่งการแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ต้องวางมาตรฐานการศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และรองรับโอกาสในอนาคต

ทั้งนี้ ในการประชุมหารือ นายณัฏฐพลได้นำเสนอโมเดลการบริหารจัดการศึกษาในบางเขตพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในที่ประชุม โดยยืนยันว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากจังหวัด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถึงปัญหาในชุมชนได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเป็นผู้วางแผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาจังหวัด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องนำมาเป็นบริบทประกอบในการวางแผนการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา

สำหรับการลงที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต รมว.ศธ. พร้อมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และคณะทำงาน ได้เดินทางไปตรวจสภาพพื้นที่จริงของแต่ละโรงเรียน พร้อมดูโครงสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางการเดินทาง เพื่อนำมาประกอบการวางแผนจัดกลุ่มโรงเรียนที่สามารถควบรวมได้ เพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนดีประจำชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง รวมถึงโรงเรียนแบบ Stand Alone ที่ยังคงให้มีไว้แต่พัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น ซึ่ง รมว.ศธ. ต้องการใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดต้นแบบ ก่อนที่จะขยายผลนำไปใช้พัฒนายกระดับการศึกษาของจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป