สพฐ. ประชุมทางไกล เร่งสร้างทักษะอาชีพ แก่นักเรียนยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบภาคบังคับ ปี 64

วันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานประชุมทางไกลขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในปีงบประมาณ 2564 ผ่านระบบ Video Conference กับผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์/นักวิชาการศึกษาผู้รับผิดชอบ โครงการฯ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูแนะแนว ครูผู้รับผิดชอบงานแนะแนว และครูที่ปรึกษานักเรียนระดับ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อหารือร่วมกันในการกําหนดแนวทางการดําเนินงานโครงการฯ ให้มีทิศทางที่ถูกต้องและชัดเจน โดยได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ สุวรรณจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายชวลิต ธูปตาก้อง ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อํานวยการสํานักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา นางเกษศิรินทร์ สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เริ่มดําเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ภายใต้การดําเนินการของสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับทั่วประเทศ โดยเป็นโครงการ ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล ในการจะลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ ทำให้นักเรียนมีอาชีพ และตอบโจทย์ตามเป้าหมายที่ สพฐ. ได้กำหนดไว้ 3 ประการ คือ ให้นักเรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีงานทำ รวมถึงสอดคล้องในด้านการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสได้เรียน ซึ่งการเรียนไม่ใช่แค่การลงทะเบียนเรียน แต่ต้องให้โอกาสนักเรียนได้เรียนตามบริบทที่เหมาะสมกับนักเรียน โดยในช่วงเวลาส่งต่อจาก ป.6 ไปยัง ม.1 หรือ ม.3 ไปยัง ม.4 หรือสายอาชีวะ หรือการทำงาน คือช่วงเวลาที่สำคัญ ในการเลือกที่จะเรียนต่อให้ตรงตามความต้องการ และเป้าหมายที่เขาได้ตั้งใจไว้ เช่น การเลือกที่จะเรียนต่อสายสามัญในระดับที่สูงขึ้น หรือเลือกที่จะเรียนต่อสายอาชีวะ โรงเรียนจึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะส่งต่อเด็กนักเรียนไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ นักเรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อทั้งสายสามัญและสายอาชีวะแต่ประสงค์ที่จะออกไปทำงาน คุณครูแนะแนวจึงมีบทบาทสำคัญที่จะเชิญชวนให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าร่วมในโครงการฯ ทั้งนี้ อยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา มีการสำรวจในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ได้ว่าเด็กที่เรียนจบ เข้าเรียนต่อสายสามัญกี่คน เรียนต่อสายอาชีพกี่คน เข้าร่วมโครงการฯ กี่คน ถือเป็นตัวชี้วัดในการดำเนินการด้านโอกาสทางการศึกษา และเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการที่สอดรับในเรื่องของการแก้ปัญหา รวมไปถึงตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี

“ทั้งนี้การดำเนินการในปีที่ผ่านมา ยังต้องเพิ่มเติมในด้านการสร้างความตระหนัก โดยต้องทำให้นักเรียนและผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้ครูแนะแนวได้เชิญรุ่นพี่ในโครงการฯ ที่จบออกไปแล้ว มาเล่าถึงข้อดีของการเข้าร่วมโครงการฯ ให้นักเรียนรุ่นน้องที่จะเข้าร่วมโครงการฯ รับทราบถึงสิ่งที่จะได้รับ อาทิ การมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ มีรายได้ที่สูง สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับวันนี้ มีวาระการประชุมฯ ที่สำคัญ อาทิ ความเป็นมาของโครงการฯ สรุปผลการดําเนินงานปีงบประมาณ 2563 และ แผนการดําเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2564 นโยบายการสนับสนุนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2564 การสํารวจข้อมูลนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ บทบาท หน้าที่ของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครูแนะแนว และครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ เป็นต้น