สพฐ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน และโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท.

วันที่ 16 ธันวาคม 2563 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในโรงเรียน และโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. โดยมี นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร นายพรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวรงค์ รักเรืองเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นดำเนินการภารกิจหลักตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา และนโยบายรัฐบาล ทั้งในส่วนนโยบายหลักด้านการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และนโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 จึงจำเป็นต้องมีการจัดการองค์ความรู้และยกระดับทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะด้านโค้ดดิ้ง หรือ ภาษาคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสาร การเรียนรู้ทักษะภาษาใหม่ ที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะทันโลกดิจิทัล รวมทั้งการยกระดับโรงเรียนคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ทั้งด้านเนื้อหาวิชาการ เทคนิควิธีการสอน และการวัดผลประเมินผล ในทุกระดับชั้น

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในสถานศึกษา รวมทั้งนิเทศ กำกับ ติดตามความก้าวหน้าในการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้งในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำข้อมูลมาปรับปรุงการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้ง ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมาตรฐาน สสวท. ให้ปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในทุกระดับชั้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเจตคติต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนคนไทยมีคุณลักษณะตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป