สพป.สมุทรสาคร พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง สพป.สมุทรสาคร และ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563  ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ได้มีการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง นายปัญจพล แสงคำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร และ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม รวมถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และผู้อำนวยการโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีความประสงค์ร่วมกันที่จะพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ตามโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องรุ่นที่ 2 ปี 2563 (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

    โดยมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 โรงเรียน ประกอบไปด้วย 1) โรงเรียนบ้านโคก 2) โรงเรียนบ้านยกกระบัตร 3) โรงเรียนบ้านบางปิ้ง 4) โรงเรียนวัดบางปิ้ง (บริษัทเกลือไทยสงเคราะห์) 5) โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) 6) โรงเรียนวัดโสภณาราม (ปลั่งร่วมราษฎร์บำรุง) 7) โรงเรียนวัดสามัคคีศรัทธาราม 8)โรงเรียนวัดปัจจันตาราม 9)โรงเรียนวัดใหม่หนองพะอง และ 10) โรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล

สำหรับโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องรุ่นที่ 2 ปี 2563 (โรงเรียนพัฒนาตนเอง) มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ (Whole School Transformation) ทั้งในด้านการบริหาร การจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงการเรียนของผู้เรียน โดยมีทีมโค้ชจากมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างความเข้าใจ หนุนเสริมกระบวนการ และเครื่องมือต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียนในเรื่องการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านองค์ประกอบการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 9 ด้าน ประกอบด้วย ผู้นำ เป้าหมาย ชุมชน บรรยากาศการเรียนรู้ เทคโนโลยี หลักสูตรและการประเมิน รูปแบบและการปฏิบัติการสอน การพัฒนาวิชาชีพ การเรียนรู้ของผู้เรียน อีกทั้งยังมีคณะศึกษาเทศก์ ที่มีบทบาทเป็นโค้ชในพื้นที่คอยสนับสนุนการขับเคลื่อนของโรงเรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้น จะได้ร่วมเรียนรู้และนำองค์ความรู้ซึ่งเป็นนวัตกรรมของมูลนิธิฯ คือการจัดกิจกรรม Makerspace (พื้นที่นักสร้างสรรค์) การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบหรือสนใจ  ด้วยกระบวนการ  STEAM Design Process 5 ขั้นตอน ได้แก่ เรียนรู้จากการตั้งคำถาม สร้างจินตนาการ วางแผน ลงมือทำ และสะท้อนคิด ซึ่งเป็นจัดการการเรียนการสอนที่เน้นสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน และหวังผล ให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาตนเองทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม มีการต่อยอดองค์ความรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียนได้ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียนร่วมกัน จนสามารถกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบ ที่มีความเข้มแข็งในการจัดการศึกษาตามบริบทของตนเองที่นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต