สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) มอบนโยบายและให้แนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้
โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า “สำหรับการขับเคลื่อนงานในปีงบประมาณ 2564 สพฐ. มุ่งเน้นต่อยอดวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 225 เขตพื้นที่การศึกษา ให้สามารถวิเคราะห์และเลือกใช้นวัตกรรมได้ตามความต้องการและเหมาะสมกับบริบท พร้อมทั้งใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานเพื่อนำสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่และสอดคล้องกับผู้เรียนที่มีความหลากหลายในทุกๆมิติ โดยได้กำหนดแผนการดำเนินงานระยะแรกร่วมกับภาคีเครือข่าย กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดกระบวนการจัดการเรียนรู้ Active Learning ของภาคีเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ ในรูปแบบความร่วมมือ รูปแบบการเรียนรู้ รูปแบบด้านเนื้อหา และบริบทที่หลากหลาย การสังเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จในด้านการจัดการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมไปถึงการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ในรูปแบบหลากหลายและเป็นระบบ ด้วยฐานการวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ตามบริบทพื้นที่ ตามแนวทางและจุดเน้น ของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. คือ สพฐ.วิถีใหม่ วิถีคุณภาพ โดยจะใช้พื้นที่เป็นฐานขับเคลื่อนคุณภาพ จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนความสำเร็จ”
ดร.สมพร สามทองกล่ำ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทางการศึกษา สพฐ. เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ว่า “เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้พัฒนาทักษะความรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต รวมถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ Active Learning ร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถวิเคราะห์และเลือกใช้นวัตกรรมได้ตามความต้องการและเหมาะสมกับบริบท รวมถึงสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายไปประยุกต์ใช้ตามบริบทที่มีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกที่มีทรัพยากรและมีความพร้อมในมิติต่างๆ เป็นอย่างดี เช่น การสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนสื่อการเรียนรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนองค์ความรู้ กระบวนการและกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ Active Learning ในการเข้าร่วมพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง โดย สพฐ.มุ่งเน้นการขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ ด้านความปลอดภัย โอกาส คุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ สพฐ. ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้ง 20 หน่วยงาน ที่ร่วมคิด ร่วมแบ่งปัน ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาไปด้วยกันค่ะ”