รมว.ศธ. ลงพื้นที่อุดรธานี ติดตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย การสอน Coding และ Robotic

++++ วันที่ 12 ธันวาคม 2561 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา  ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ณ จังหวัดอุดรธานี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน โดยในช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี เพื่อติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยระดับปฐมวัย พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานโครงการนักเรียน และกิจกรรมการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จของโรงเรียนในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในเครือข่าย (Local Network) สำหรับโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้รับแนวคิดมาจากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศเยอรมนี มีจังหวัดนำร่องครั้งแรก 12 จังหวัด ก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลอุดรธานี ได้เป็นโรงเรียนนำร่องและได้รับเลือกให้ร่วมโครงการในเครือข่ายขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ National Science Museum (NSM) ผ่านเกณฑ์การประเมินได้รับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเป็นครั้งแรกในปี 2554 ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย โรงเรียนอนุบาลอุดรธานีจึงได้เปลี่ยนมาเข้าร่วมโครงการของ สพฐ. เป็นรุ่นที่ 5 และเข้ารับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2558 โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เป็นโครงการที่ช่วยการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้เด็กมีจิตวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น จึงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีลักษณะเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและมีจิตวิทยาศาสตร์ พัฒนาครูให้มีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ในระดับปฐมวัย รวมทั้งสนับสนุนการนำแนวคิดกิจกรรมตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการนำกิจกรรมตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยไปพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างกิจกรรมในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประกอบด้วยกิจกรรม 5 รูปแบบ ได้แก่ กิจกรรมการทดลองตามใบกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์ กิจกรรมโครงงานตามแนวบ้านนักวิทยาศาสตร์ โครงการเทศกาลนักวิทยาศาสตร์น้อย กิจกรรมนักวิทยาศาสตร์น้อย และกิจกรรมครอบครัวนักวิทยาศาสตร์น้อย เป็นต้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ทำให้เด็กปฐมวัยมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและจิตวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กสามารถค้นหาคำตอบจากคำถามที่ตนสงสัยโดยวิธีการของตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้นให้ความช่วยเหลือ และสามารถจัดทำโครงงานเป็นที่ประสบความสำเร็จ ได้รับเลือกให้นำเสนอโครงงานในนิทรรศการเปิดศูนย์การเรียนรู้แบบ STEM นอกจากนั้น ยังทำให้เด็กปฐมวัยมีพื้นฐานในด้านองค์ความรู้และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์ต้นแบบในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นศูนย์ศึกษาดูงานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยสำหรับโรงเรียนเครือข่ายและโรงเรียนที่สนใจ รวมทั้งโรงเรียนเครือข่ายโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยผ่านเกณฑ์การประเมิน ได้รับตราพระราชทานบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และโรงเรียนยังได้รับรางวัล Best Practice ด้านการบริหารจัดการดีเด่น สาขาการศึกษาปฐมวัยของสำนักงานศึกษาธิการภาค 10 อีกด้วย ต่อมาในช่วงบ่าย รมว.ศธ.และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานหลักสูตร Business and Technology Education Council (BTEC) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษา (Case Study) เพื่อสร้างระบบคิด วิเคราะห์ ฝึกแก้ปัญหา และนำเสนอได้ โดยสถาบัน Pearson จากประเทศอังกฤษทำหน้าที่พัฒนาและประเมินหลักสูตร และอาจมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก เพื่อให้หลักสูตรอาชีวศึกษาตรงกับความต้องการของผู้จ้างงาน เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะด้านอาชีพต่างๆ จากนั้น รมว.ศธ. ได้เดินทางไปยังโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม จ.อุดรธานี เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน Coding และ Robotic (หุ่นยนต์) ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อกระบวนการคิดเชิงตรรกะ ความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีด้วยตนเองได้ในอนาคตต่อไป

ภาพ:บรรจง/ข่าว:อัจฉรา