เลขาธิการ กพฐ. ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนสตรีวิทยา และโรงเรียนวัดอินทาราม

 

วันที่ 4 มกราคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 โดยมี นางสุภาษี ธรรมาธคม ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นผู้ให้รายละเอียด

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปิดการเรียนการสอนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 จำนวน 2,958 แห่ง ใน 84 เขตพื้นที่การศึกษา ครอบคลุมใน 44 จังหวัด โดยในระหว่างนี้จะมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ จัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV และ เรียนผ่านใบงานที่ครูได้จัดให้ ส่วนในจังหวัดที่ยังไม่พบการระบาดในขณะนี้ หากพบการระบาดเกิดขึ้นให้อำนาจผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสามารถบริหารจัดการในพื้นที่ได้ทันที โดยยึดมาตรการด้านสาธารณสุข ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละแห่ง และความปลอดภัยของนักเรียนเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ สำหรับวันนี้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการติดตามการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประกาศปิดสถานศึกษาเนื่องจากเหตุพิเศษอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนวัดอินทาราม กับโรงเรียนสตรีวิทยา

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจเยี่ยมขอชื่นชมทั้งสองโรงเรียนที่ได้ถอดบทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ภายใต้การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และระบบออนแอร์ พบว่าทั้งสองโรงเรียนทำได้ดีในส่วนของการสอนออนไลน์ โดยมีการออกแบบการสำรวจอุปกรณ์ความพร้อมของโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ โดยมีครูผู้สอนออกแบบตารางการเรียนพร้อมทั้งจัดหาช่องทางในการสื่อสารกับนักเรียน และจากการสำรวจความสำเร็จพบว่าครูใช้ช่องทางในการสอนหลายช่องทาง เช่น การสอนในห้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ และผ่านช่องทางยูทูป อีกทั้งยังมีการสั่งงานและส่งงานผ่านระบบไลน์ และอีเมลล์ โดยกำหนดให้นักเรียนเข้าห้องเรียนออนไลน์ผ่าน Google Classroom ตามรายวิชาในระดับชั้นของตนเอง โดยการใช้รหัสการเข้าร่วมชั้นเรียน ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า หรือปฏิบัติด้วยตนเอง ตามที่ครูผู้สอนกำหนดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการนับเวลาเรียนในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ของแต่ละรายวิชาเป็นไปตามเวลาเรียนตามตารางเรียนของนักเรียน รวมถึงให้นักเรียนทำแบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ในแบบประเมินที่โรงเรียนกำหนด สำหรับกรณีนักเรียนมีปัญหาในการเรียนออนไลน์ เช่น ด้านการเรียน ด้านอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการเรียน สามารถแจ้งปัญหาได้ที่ ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำวิชา เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

“จะเห็นได้ว่าการพยายามให้การศึกษาเดินต่อไปได้ เพราะหากแม้นักเรียนจะไม่ได้มาโรงเรียนก็ไม้ได้หมายความว่าการศึกษาจะต้องหยุดไปด้วย ขณะที่การเรียนการสอนออนไลน์ก็มีความสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยังคงพบปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก เช่น การมอบหมายงานให้กับนักเรียนที่ค่อนข้างมาก และนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเรียนและความพร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้จะมีการปรับแก้ไขการให้งานนักเรียนด้วยความเหมาะสมตามสภาพบริบท รวมถึงนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และการเข้าเรียน ก็จะมีการสอนซ่อมเสริมให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้มีโอกาสเรียน และมีงานส่งเท่าเทียมกัน ทั้งนี้จะมีการประชุมหารือแนวนโยบายร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในรูปแบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ในวันที่ 6 มกราคม 2564 เวลา 09.00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการดำเนินการอีกครั้ง ตนจึงอยากให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจในมาตรการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ ของ สพฐ. ซึ่งจะยึดถือความปลอดภัยและสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ และ สพฐ. จะมีมาตรการเรื่องการเรียนการสอนที่มีคุณภาพออกมาอย่างแน่นอน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว