สพฐ. ประชุมทางไกลชี้แจงแนวทางปฏิบัติภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา

วันที่ 6 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้แจงแนวทางปฏิบัติในด้านต่างๆ อาทิ นโยบายการจัดการศึกษา สพฐ. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. / การบริหารจัดการทั่วไป การเตรียมความพร้อม การเปิด-ปิดสถานศึกษา การจัดโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม(นม) โดยนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. / การบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษา และการดำเนินนโยบายโรงเรียนคุณภาพของชุมชน/โรงเรียนดีสี่มุมเมือง โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. / แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผลผู้เรียนตามหลักสูตร การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยนายอนันต์ พันนึก ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และการบริหารงานบุคคล โดยนายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับการประชุมทางไกลครั้งนี้ เพื่อที่จะสื่อสารทำความเข้าใจ แนวทางในการดำเนินงานของ สพฐ. ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทั่วประเทศ ในเรื่องหลักๆ ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเราพบว่าการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้มีความรุนแรง มีปริมาณการขยายตัวในวงกว้างและรวดเร็วมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ให้เป็นไปตามมาตรการของ ศบค. จึงได้เน้นย้ำใน 3 เรื่อง คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจพร้อมดำเนินการตามมาตรการเพื่อให้นักเรียนหรือบุคลากรปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. ทั้งในเรื่องการเว้นระยะห่าง การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย การดูแลสุขอนามัย และการเปิด-ปิดสถานศึกษาในกรณีที่จำเป็น รวมถึงปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ และปฏิบัติตามประกาศของจังหวัดแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรเป็นสำคัญ

พร้อมกันนั้น ให้ทุกโรงเรียนและทุกสำนักงานเขตพื้นที่ได้ออกแบบในเรื่องการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลสภาพจริงของแต่ละพื้นที่ โดยให้รายงานเป็นรายวัน หรือตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและทันต่อสถานการณ์ ส่วนในเรื่องการเผชิญเหตุหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญเหตุ ในจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม หรือสีเหลือง หากมีเหตุจำเป็นต้องปิดเรียนทุกโรงเรียนในจังหวัดพื้นที่สีแดง ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. On Site คือให้มาเรียนตามปกติได้ในพื้นที่ที่ไม่ใช่สีแดง แต่ต้องเว้นระยะหรือลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง สำหรับจังหวัดพื้นที่สีเขียว สามารถจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ตามปกติ 2. On Air คือการออกอากาศผ่าน DLTV เป็นตัวหลักในการกระจายการสอน โดยใช้โรงเรียนวังไกลกังวลเป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน สามารถดูได้ทั้งรายการที่ออกตามตาราง และรายการที่ดูย้อนหลัง 3. Online ให้ครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ผ่านเครื่องมือที่ทางโรงเรียนกระจายไปสู่นักเรียน เป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนมากที่สุด 4. On Demand เป็นการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ครูกับนักเรียนใช้ร่วมกัน และ 5. On Hand หากจัดในรูปแบบอื่นๆ ที่กล่าวมาไม่ได้ ให้โรงเรียนจัดแบบ On Hand คือจัดใบงานให้กับนักเรียน เป็นลักษณะแบบเรียนสำเร็จรูป ให้นักเรียนรับไปเป็นชุดไปเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน โดยมีครูออกไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว หรือให้ผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นครูคอยช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้โรงเรียนจะปิดแต่ต้องไม่หยุดการเรียนรู้

“ขณะที่การปิดภาคเรียนและการสอบนั้น เราจะไม่เลื่อนการปิดภาคเรียนและไม่เลื่อนการสอบออกไป เพราะหากขยายเวลาเรียนหรือปิดเทอมช้าไป ก็จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาต่อของนักเรียนที่จบชั้น ม.6 หรือนักเรียนที่จะไปเรียนต่อในชั้น ม.4 ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็อาจจะต้องมีการปรับวิธีการสอบ ต้องมาดูว่าจะใช้วิธีไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว