ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2564

วันที่ 15 มกราคม 2564 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การจัดทำร่างแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 การวางแผนรับมือและแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และภูเก็ตโมเดล การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในเรื่องของการเรียนออนไลน์ หากเราสามารถนำข้อมูลของครูที่สอนออนไลน์ส่งมายัง สพฐ. ให้รวมกันเป็นส่วนกลางได้ ครูและนักเรียนคนอื่นก็สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งหากหลังวันที่ 31 มกราคมนี้ สถานการณ์โควิด-19ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องมาหารือกันว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร อย่างเช่นเรื่องของการบ้าน ครูจะต้องมาคุยกันก่อนว่าเด็กที่สอนในแต่ละระดับต้องให้การบ้านแบบไหน ที่เมื่อเด็กทำแล้วสามารถตอบโจทย์ในหลายกลุ่มสาระวิชาได้ในชิ้นเดียว ก็จะทำให้ลดปริมาณการบ้านลงได้ อีกส่วนหนึ่งคือการพิจารณาเรื่องตัวชี้วัดว่าสามารถปรับให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนได้หรือไม่ อย่างไร เพราะการวัดผลและกระบวนการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ดังนั้นตัวชี้วัดอาจจะต้องมีการปรับด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยว่าให้นำภาพความสำเร็จ (Best Practice) ของแต่ละโรงเรียนส่งเข้ามาที่ส่วนกลางแล้วเผยแพร่ไปยังโรงเรียนอื่นนำไปใช้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยิ่ง

ส่วนในเรื่องแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลให้ สพฐ. ทำการปรับแนวคิดเรื่องการร่างกลยุทธ์แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น เด็กไทยจะต้องมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ มีทักษะที่หลากหลาย มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ซึ่ง สพฐ. จะรับไปพิจารณาในการยกร่างแผนการศึกษา ปี 2564-2565 ขณะที่นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เรื่องโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ที่ใช้โมเดลจังหวัดภูเก็ตก็ต้องมาดูความเหมาะสม เพราะบางพื้นที่มีความแตกต่างจากภูเก็ต อย่างเช่นจังหวัดในภาคอีสานก็ต้องหาโมเดลที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละภูมิภาค

“ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลคือหากเราไม่สามารถเปิดเรียนได้หลังจากวันที่ 31 มกราคม ก็อาจจะกระทบกับการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ซึ่งวันนี้ในที่ประชุมก็ได้มีการรับทราบเรื่องการปรับกฎเกณฑ์การรับนักเรียนชั้น ม.1 และม.4 คือไม่ต้องมีการนำผล O-NET เข้ามาเป็นส่วนในการคัดเลือก ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่บังคับให้นักเรียนต้องสอบ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจ ดังนั้นจึงไม่ควรนำผลสอบ O-NET มาเป็นส่วนในการคัดเลือกเข้าเรียน ซึ่งการให้นักเรียนสอบ O-NET ด้วยความสมัครใจนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือบุคลากรในโรงเรียนไม่ควรพูดในเชิงบังคับให้เด็กเข้ามาสอบ ต้องให้เป็นอิสระในการเลือกของเด็กจริงๆ” ประธาน กพฐ. กล่าว

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน