สพฐ. แจงเลือกวิธีเรียนได้หลายแบบหากไม่พร้อมเรียนออนไลน์

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสนอความคิดเห็นเรื่องปัญหาจากการเรียนออนไลน์ อาทิ อุปกรณ์ไม่พร้อม สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มี ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลาน เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอชี้แจงว่า การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สพฐ. ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ ตามบริบท และความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน คือ 1. ON-AIR 2. ONLINE 3. ON–DEMAND 4. ON-HAND และ 5. ON–SITE ไม่จำเป็นว่าโรงเรียนที่ปิดเรียนต้องใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว

ในกรณีที่เป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางไกลในระดับปฐมวัย – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยวิธีการสอนใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. การเรียนการสอนผ่านทีวี (ON-AIR) ผ่านระบบดาวเทียม KU-BAND (จานทึบ) ช่อง 186-200 ระบบเคเบิลทีวี (Cable TV) และระบบ IPTV 2. การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) ผ่านทางระบบ Video Conference ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน และระบบอื่นตามที่ สพท. จัดเตรียมให้ 3. การเรียนการสอนแบบ ON–DEMAND ผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง Youtube (DLTV Channel 1-15) และแอปพลิเคชั่น DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต 4. การเรียนการสอนแบบ ON-HAND สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การรับชม โดยการนำหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง และในส่วนของมัธยมศึกษาปีที่ 4–6 ให้จัดการสอนผ่านทางระบบ Video Conference หรือระบบบริหารจัดการเรียนการสอน (LMS) ของโรงเรียน หรือระบบที่ สพท. ได้เตรียมไว้

ในกรณีที่เป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีพื้นที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามที่ ศบค. กำหนด ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามปกติ (ON-SITE) โดยยึดคำสั่งจาก ศบค.จังหวัด โดยมี สพท. เป็นผู้ดำเนินการ ควบคุม กำกับ ติดตาม และให้ความสะดวกแก่สถานศึกษา ดังนั้น นักเรียนและผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องหาซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม เนื่องจากสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมและบริบทของตัวเองได้ ส่วนในเรื่องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องให้ญาติพี่น้องมาดูแลนักเรียนในขณะเรียนออนไลน์นั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ารูปแบบการเรียนการสอนมีอยู่ 5 รูปแบบ หากนักเรียนไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ในขณะที่ผู้ปกครองไปทำงานก็สามารถกลับมาเรียนย้อนหลังในเวลาหลังเลิกงานของผู้ปกครอง ผ่านรูปแบบ ON-Demand หรือ ON-HAND ตามบริบทที่เหมาะสม

นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้ปกครองได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้กับทางโรงเรียน ทั้งค่าอาหารกลางวัน ค่ารถ ค่าที่พัก ค่าเรียนพิเศษ แต่กลับไม่ได้ใช้เพราะต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน ในส่วนนี้ตนขอเรียนว่า สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าเทอมจากนักเรียนหรือผู้ปกครอง เนื่องจากรัฐบาลได้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดสรรให้แก่หรือผ่านทางสถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษา ในรายการพื้นฐาน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

สำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จึงจะดำเนินการขอรับการสนับสนุนได้ อาทิ สถานศึกษาที่เปิดห้องเรียนพิเศษตามโครงการต่าง ๆ หรือสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบพักนอน โดยในห้วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไว้ ดังนี้

สถานศึกษาที่เปิดห้องเรียนพิเศษตามโครงการต่าง ๆ ได้ดำเนินการคืนค่าใช้จ่ายที่จะนำไปใช้ในการจัดค่ายวิชาการแก่นักเรียนที่เรียนในห้องเรียนพิเศษตามโครงการต่าง ๆ ทุกคน สำหรับค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ สถานศึกษายังคงใช้จ้างครูชาวต่างประเทศเพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้แก่นักเรียนเช่นเดิม และในสถานศึกษาบางแห่งใช้วิธีการบริหารจัดการ โดยไม่ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในภาคเรียนที่ 2/2563 แต่นำเงินค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไว้ในภาคเรียนที่ 1/2563 ซึ่งไม่ได้ใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในรอบแรก มาชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2/2563

ในส่วนของห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ยังใช้ครูต่างชาติเหมือนเดิม ให้นักเรียนได้ฝึกสนทนา โต้ตอบด้วยภาษาอังกฤษ และบางโรงเรียนเชิญวิทยากรภายนอกและวิทยากรพิเศษ มาให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์เพิ่มเติม โดยค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจ่าย ส่วนหนึ่งทางโรงเรียนจะเตรียมไว้สำหรับการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ ตามกรอบมาตรฐาน CEFR เพื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล

ขณะที่สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบพักนอน กรณีหากปิดเรียนและใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ ได้ดำเนินการคืนเงินค่าอาหาร ค่าจ้างซักรีด และค่าตัดผมนักเรียน สำหรับค่าบ้านพัก เมื่อมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียนหรือผู้ปกครองตั้งแต่แรกเข้า ทางโรงเรียนได้นำไปดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพัก หอนอน และใช้ดูแลซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านพัก

“ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดทำแนวทางดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) จากเดิม โดยเพิ่มกิจกรรมที่ 5 คือ กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น การผลิตสื่อการเรียนการสอน ใบงาน แบบฝึกหัด และค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว