รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมงาน “รวมพลคน KidBright Online” KidBright Developer Conference 2021 (KDC21)

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมงาน “รวมพลคน KidBright Online” KidBright Developer Conference 2021 (KDC21) โดยมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน KidBright AI Bot Tournament พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายส่งเสริมการสอน Coding, AI และ Data Science” ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) โดยกำหนดไว้ในนโยบายด้านการศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารภาษาต่างๆ ของเด็กไทย ทั้งภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ตลอดจนภาษาคอมพิวเตอร์หรือโค้ดดิ้ง (Coding) ซึ่งเป็นทักษะภาษาใหม่ที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีในอนาคต ทำให้เข้าใจการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: A) และหุ่นยนต์ได้ สอดคล้องกับการเตรียมกำลังคนของประเทศให้มีทักษะเท่าทันโลกยุคดิจิทัล มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในยุคศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตในทุกด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artifcial intelligence : A) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้งานอยู่สามารถสร้างข้อมูลปริมาณมหาศาล ดังนั้นความเซี่ยวชาญในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันหรือใช้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับยุคนี้ อีกทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากมีความฉลาด สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการตื่นตัวในเรื่องนี้

ในด้านการส่งเสริมการสอนด้าน AI และ Data Science นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) ในการทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง Big Data และ Machine Learning ด้วย KidBright โดยได้มอบบอร์ด KidBright จำนวน 200,000 บอร์ดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ กว่า 2,200 แห่ง อีกทั้งได้มีการพัฒนาเครื่องมือการสอนปัญญาประดิษฐ์โดยใช้การสร้างชุดคำสั่งแบบบล็อก (KidBright AI) ที่สามารถใช้งานได้ง่าย ทำให้นักเรียนข้าใจกระบวนการต่างๆ ทั้งหมดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้ โดยบอร์ดสมองกลฝังตัว (KidBright) เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลจากบอร์ดดังกล่าวมาประมวลผล

นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ซึ่งเป็นเนื้อหาในหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ และเป็นพื้นฐานสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้นักเรียนมีองค์ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนากระบวนความคิดเชิงตรรกะร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ ที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชั่นและเทคโนโลยีด้วยตนเองในอนาคต และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลก

“ทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรม ไม่เพียงเป็นความรู้พื้นฐานของนักเรียนสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นรากฐานของสังคมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสำเร็จและยั่งยืนอีกด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว