สพฐ. ประชุมปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่างเครื่องมือประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่างเครื่องมือประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมี ผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ ครู และนักวิชาการศึกษาสํานักทดสอบทางการศึกษา รวมจำนวนกว่า 90 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมสีดารีสอร์ท จ.นครนายก

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยแยกสัดส่วนแต่ละกลุ่มสาระวิชาการเรียนรู้หลัก ให้มีความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น มีการเชื่อมโยงหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่าพร้อมกับผสมผสานการเรียนรู้โลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลักสูตรใหม่จะมุ่งเป้าหมายของการผลิตผู้เรียนตามความต้องการของประเทศในอนาคต รวมทั้งให้มีกระบวนการแก้ปัญหาในกลุ่มผู้เรียนที่ไม่มีความถนัดในบางกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกระบวนการพัฒนากลุ่มผู้เรียนที่มีความถนัดเฉพาะด้านให้ได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์ และมีทางเลือกในการเรียนรู้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นนั้น

สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ปรับหลักสูตรเก่าที่เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และมอบหมายให้สํานักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.สพฐ.) ดําเนินการจัดประชุมปฏิบัติการยกร่างเครื่องมือประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ทั้ง 5 สมรรถนะหลัก ได้แก่ เครื่องมือประเมินสมรรถนะการจัดการตนเอง เครื่องมือประเมินสมรรถนะการสื่อสาร เครื่องมือประเมินสมรรถนะการรวมพลังทํางานเป็นทีม เครื่องมือประเมินสมรรถนะการคิดขั้นสูง และเครื่องมือประเมินสมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยเครื่องมือประเมินสมรรถนะแต่ละสมรรถนะจะแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้นการศึกษา ได้แก่ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) และช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-6)

สำหรับกระบวนต่อไปของการพัฒนาเครื่องมือที่ได้มาตรฐานจะต้องหาคุณภาพของเครื่องมือว่ามี ความตรง (Validity) ในเชิงเนื้อหาและเชิงโครงสร้าง โดยต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในด้านวัดและประเมินผล ผู้จัดการเรียนการสอนในแต่ละช่วงชั้น มาพิจารณา และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการนําเครื่องมือประเมินสมรรถนะไปใช้ได้มีความรู้ ความเข้าใจรูปแบบเครื่องมือประเมิน และแสดงความคิดเห็นถึงความเหมาะสม ความสะดวก ข้อเสนอแนะในการใช้เครื่องมือประเมิน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเครื่องมือประเมินสมรรถนะตามหลักสูตรฐานสมรรถนะผู้เรียน ดังนั้น สทศ.สพฐ. จึงได้ดําเนินการจัดประชุมปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่างเครื่องมือประเมินสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อนําข้อมูลจากการประชุมฯ ไปใช้พัฒนาเครื่องประเมินสมรรถนะทั้ง 5 สมรรถนะ สําหรับจัดทําเป็นตัวอย่างเครื่องมือวัดและประเมินผลตรงตามหลักสูตรฐานสมรรถนะต่อไป