ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 2/2564

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การพิจารณาวิดีโอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ “มัธยมออนไลน์ ห่างไกลโควิด” ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปีการศึกษา 2563 รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการ การรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนั้น ก่อนเริ่มการประชุมยังได้มีการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “จากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎ ระเบียบการบริหารทรัพยากรและความเป็นผู้นำ โดย นางสาวรัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย อีกด้วย

ทั้งนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบและเห็นด้วยว่าผู้บริหารยุคใหม่ควรมีสมรรถนะในการบริหารทางวิชาการ ซึ่ง สพฐ.จะต้องออกแบบหลักสูตรการพัฒนาก่อนแต่งตั้ง โดยต้องกำหนดหลักสูตรการพัฒนาให้สอดคล้องกับงานวิจัย เพื่อยืนยันว่างานวิจัยนี้มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปได้ ส่วนระยะยาว สพฐ.จะเสนอ ก.ค.ศ. ให้ปรับมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะ รวมถึงหลักเกณฑ์การก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับที่ ก.ค.ศ. กำลังดำเนินการ

นอกจากนี้ ประชุมยังได้หารือถึงการประเมิน โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่าควรให้ สพฐ.เป็นหน่วยปฏิบัติ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นหน่วยทำเครื่องมือวัด และ สมศ. เป็นหน่วยประเมิน แต่จะทำงานร่วมกันอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างอ่านกฎหมาย แล้วก็เดินตามกฎหมายของตนเอง ซึ่งที่ประชุมให้หลักการ ว่า สพฐ. ต้องทำโรงเรียนให้มีคุณภาพ แม้จะอยู่บนความแตกต่างของพื้นที่ แต่ก็ต้องมีการพัฒนา และต้องมีการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ภายใต้ข้อจำกัดและโอกาสที่มีอยู่ ส่วน สทศ. ก็ต้องชี้วัดตัวผู้เรียน เพื่อการพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคลหรือวัดคุณภาพระดับชาติ ก็ต้องให้โอกาสทุกคนได้รับการประเมิน

“ในส่วนของ สมศ. นั้นไม่ได้ประกันคุณภาพสถานศึกษา แต่มีหน้าที่ในการประเมิน ซึ่งในอนาคต สมศ. จะไปประเมินในสิ่งที่โรงเรียนทำบันทึกประกันคุณภาพภายในไว้ ซึ่งเมื่อพบจุดอ่อนก็จะช่วยกันพัฒนา เป็นการช่วยกันขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ ผลักดันให้เด็กมีคุณภาพ เป็นการช่วยกันสร้างให้เด็กมีต้นทุนทางชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ศนท.สพฐ. / ภาพ:รายงาน