สพฐ. สานต่อโรงเรียนสุจริต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับ สพท. ประจําปี 2564

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประจําปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะมีการจัดขึ้น จำนวน 5 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 – 25 มีนาคม 2564 สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นจุดแรกที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมี ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสุจริตในระดับ สพท. ผู้รับผิดชอบโครงการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต ผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และผู้รับผิดชอบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของ สพท. บุคลากรจากสํานักงาน ป.ป.ช. ครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่ดําเนินกิจกรรมบริษัทสร้างการดี ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และมีความโดดเด่นร่วมจัดนิทรรศการและนําเสนอผลงาน คณะทํางานส่วนภูมิภาค วิทยากรและคณะทํางานส่วนกลาง เข้าร่วม ณ โรงแรมไดมอนด์ สุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต ได้ตระหนักถึงความสําคัญของการเตรียมการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสถานศึกษา จึงบูรณาการความร่วมมือกับสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) โดยสํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดําเนินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในสถานศึกษาและ สพท. (โครงการโรงเรียนสุจริต) ในการดําเนินกิจกรรมเพื่อปลูกฝังให้ นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาเกิดคุณลักษณะ 5 ประการของโรงเรียนสุจริต ได้แก่ ทักษะ กระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และจิตสาธารณะ มาอย่างต่อเนื่อง

โดยได้ดําเนินการตามแนวทางของปฏิญญาโรงเรียนสุจริตทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน ด้านการปลูกฝัง และด้านการสร้างเครือข่าย ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงการมุ่งเน้นธรรมาภิบาลในการบริหารหน่วยงาน ยกระดับคุณธรรม และความโปร่งใสในการดําเนินงานของสพท. และสถานศึกษา รวมถึงได้จัดทําหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ประกอบด้วยเนื้อหา 4 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม 2) ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต 3) STRONG : จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต และ 4) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทั้ง 4 หน่วยนี้ จะจัดทําเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ ตั้งแต่ชั้นปฐมวัย จนถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งนําไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังและป้องกันการทุจริตให้แก่นักเรียนทุกระดับ

ทั้งนี้ เพื่อให้การบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ สามารถดําเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะสุจริต ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ อีกทั้งขยายผลให้โรงเรียนในสังกัดนําหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับ สพท.ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขึ้น จํานวน 5 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม 2564 เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในระดับ สพท. กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ สพท. มีแผนบูรณาการของหน่วยงานที่เป็นไปตามแผนแม่บทบูรณาการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) พร้อมจัดทําฐานข้อมูลโรงเรียนสุจริตในสังกัด ขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในสถานศึกษา เตรียมการในการดําเนินโครงการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุจริต และเตรียมการในการรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงาน ของ สพท.ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้ทรงความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต ประกอบด้วยข้าราชการบํานาญกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้อํานวยสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ สํานักงาน ป.ป.ช. บุคลากรจากสํานักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สํานักงาน ป.ป.ช. และศึกษานิเทศก์ จาก สพท. สังกัด สพฐ.