สพฐ. จัดอบรมด้านการตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปี 2564

วันที่ 1 มีนาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้งมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ตรวจสอบภายใน จากส่วนกลางและจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวม 100 คน เข้าร่วมการอบรม ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกลุ่มตรวจสอบภายใน ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตรวจสอบภายใน สำหรับผู้ตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปี 2564 เพื่อพัฒนาความรู้ให้ผู้ตรวจสอบภายใน สามารถนำกรอบแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน สร้างมาตรการในการป้องกันและจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงทราบหลักการข้อควรระวังเกี่ยวกับการบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการให้คำปรึกษา แนะนำแก่สถานศึกษาในสังกัด ให้ปฏิบัติงานการจัดซื้อจัดจ้างได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการบริหารพัสดุภาครัฐได้

สำหรับการจัดอบรมดังกล่าว แบ่งเป็น 4 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 วันที่ 1-3 มีนาคม 2564 จำนวน 100 คน รุ่นที่ 2 วันที่ 15-17 มีนาคม 2564 จำนวน 99 คน รุ่นที่ 3 วันที่ 29-31 มีนาคม 2564 จำนวน 113 คน และรุ่นที่ 4 วันที่ 19-21 เมษายน 2564 จำนวน 114 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 426 คน โดยเนื้อหาในการอบรมประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงการทุจริตในการปฏิบัติงาน ข้อควรระวังในการบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการบริหารพัสดุภาครัฐ แนวทางการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2564 รวมถึงแนวทางการจะดทำรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานตามแผนการตรวจสอบภายใน ประจำปี 2564 รอบ 6 เดือน และรอบ 12 เดือน และแนวทางการรายงานผลการปฏิบัติงานในระบบรายงานผลตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ (KPI Report System : KRS) เป็นต้น โดยมีวิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และกรมบัญชีกลาง มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรม

“ในการอบรมครั้งนี้ ผู้ตรวจสอบภายในจะได้รับประโยชน์ในการเพิ่มองค์ความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของตนเอง ทำให้ระบบการตรวจสอบภายในเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน สามารถแก้ไขข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดเบื้องต้นได้ทันเวลา ส่งผลให้การดำเนินงานของหน่วยงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ และสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายผู้ตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการบริหารงานตรวจสอบภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว