รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา) ลงพื้นที่ติดตามกระบวนการ จัดทำค่ายเยาวชนฮีโร่ฟื้นป่าน่าน รุ่นที่ 2 ตามโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง”

วันที่ 7 มีนาคม 2564 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะ ลงพื้นที่ติดตามกระบวนการจัดทำ “ค่ายเยาวชนฮีโร่ฟื้นป่าน่าน” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โครงการพระราชทาน “อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ณ หมู่บ้านวนาไพร ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และให้กำลังใจ นักเรียน ครู ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาจากโรงเรียนสาธุกิจประชาสรรค์ รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 โรงเรียนสาและโรงเรียนบ้านสาลี่ พร้อมทั้งร่วมติดตามกระบวนการทำค่ายดังกล่าวและร่วมประชุมสรุปผลการพัฒนาและการประเมินในการจัดกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยพลโทสมบัติ ธัญญะวัน พลตรีกัลย์สรรค์ จันทรเสน อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธรและหน่วยราชการในพระองค์ 904 รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายอำเภอเวียงสา ทีมงานโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย อุทยานแห่งชาติศรีน่าน นักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านชุมชนบ้านวนาไพร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน คณะทำงานจากส่วนกลางสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนก. สวก.) นักเรียน ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนที่เข้าร่วมค่ายฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ในการประชุมดังกล่าว ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ได้รับฟังการสะท้อนความคิดและผลการจัดกิจกรรมใน “ค่ายเยาวชนฮีโร่ฟื้นป่าน่าน” ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มโดยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เพื่อนำกระบวนการเรียนรู้จากการใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) สู่โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนและเยาวชนได้ทำความเข้าใจปัญหาป่าไม้จังหวัดน่านและทดลองลงมือแก้ไขปัญหาด้วยทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนในสถาบันการศึกษาจนเกิดการขยายผลสู่กิจกรรม “ค่ายเยาวชนฮีโร่ฟื้นป่าน่าน รุ่นที่ 2” มีโรงเรียนเข้าร่วม 4 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนสาธุกิจประชาสรรค์ รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 โรงเรียนสา และโรงเรียนบ้านสาลี่ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่อไป

กระบวนการอบรมฝึกการแก้ไขปัญหาเป็นฐาน (PBL) เน้นให้ครูเป็นผู้สนับสนุน นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้โดยหาวิธีการแก้ไขปัญหา ทดลองลงมือปฏิบัติ และปรับปรุงกระบวนการด้วยตนเอง โดยมีการสอดแทรกเนื้อหาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยโคก หนอง นา บนพื้นที่สูง ส่งผลให้นักเรียนและครูเข้าใจทฤษฎีและหลักการที่ถูกต้อง

“กระบวนการค่ายเยาวชนฮีโร่ฟื้นป่าน่าน ถือว่าเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ดี ส่งเสริมกระบวนการคิดและให้นักเรียนรู้จักพึ่งพาตนเองซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะของผู้เรียน ครูสามารถนำมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะวางกรอบการทำงาน และจัดทำแผนการดำเนินงาน จัดการเรียนรู้ตามกระบวนการค่ายเชื่อมโยงกับหลักสูตรการสอนของครูตามบริบทโรงเรียนต่อไป” ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา กล่าวสรุป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเตรียมการดำเนินงานโครงการพระราชทาน “อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยเป็นการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการค่ายเชื่อมโยงกับหลักสูตรการสอนของครูตามบริบทโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขับเคลื่อนขยายผลสู่โรงเรียนทั่วประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2564 ด้วยการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องสถานศึกษาแบ่งตามพื้นที่ลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ใน 5 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคใต้) ภาคละ 6 โรงเรียน รวมทั้งศูนย์การเรียนรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าวต่อไป