สพฐ. ระดมความคิดจัดทำระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และวิจัยพัฒนารูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้สำหรับการจัดการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

วันที่ 9 มีนาคม 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการวิจัยพัฒนารูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้สำหรับการจัดการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระหว่างวันที่ 8 – 11 มีนาคม 2564 โดยมี นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวรายงาน คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และครู เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษเป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐบาลของนานาประเทศให้ความสำคัญ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 และมาตรา 258 (จ) ได้บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย

นอกจากนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่ 12 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และการตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ดำเนินการวัดแวว และจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขีดความสามารถของผู้เรียน จัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษสู่ความเป็นเลิศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักดีถึงความสำคัญดังกล่าว จึงกำหนดจัดการประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการวิจัยพัฒนารูปแบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้สำหรับการจัดการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อระดมความคิดในการจัดทำเครื่องมือสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะการประชุมครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษา และเด็กผู้ความสามารถพิเศษซึ่งจะเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป