สพฐ. เดินหน้าโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เริ่มจุดแรกที่ภาคใต้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมปฏิบัติการโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” จุดภาคใต้ ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับเกียรติจาก พลโท สมบัติ ธัญญะวัน นายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรรยาย เรื่อง แนวทางการปฏิบัติดำเนินการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฏีใหม่แบบชาวบ้านสู่การปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา สู่การศึกษาในโรงเรียน และ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บรรยายเรื่องแผนปฏิรูปการศึกษาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงคณะวิทยากรประกอบด้วยผู้บริหาร คณะครูและนักเรียน จากโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะองค์กรหลักที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตนั้น โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการประยุกต์ใช้ทฤษฎีด้านการเกษตร อีกทั้ง ได้นำหลักคิดการจัดการเรียนรู้แบบปูทะเลย์มหาวิชชาลัยที่มุ่งเน้นด้านการศึกษาควบคู่กับคุณธรรม ซึ่งผู้เรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ นำมาเป็นหลักคิดการบริหารจัดการโครงการ ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกฝังให้เยาวชนได้ สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียน 4 ข้อ คือเป็นคนดี มีระเบียบวินัยพึ่งพาตนเองได้ เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และกตัญญูกตเวที จึงได้จัดการประชุมปฏิบัติการโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย“โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งการประชุมในจุดภาคใต้นี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริม และศึกษานิเทศก์หรือผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมดในภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 200 คน

ด้านนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. กล่าวว่า นอกจากนี้แล้วยังเป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาในระดับจังหวัดเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และในระดับจังหวัดและการร่วมกิจกรรม Workshop ซึ่งเป็นการถ่ายทอดกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ในครั้งนี้อีกด้วย