ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ชื่องาน “EDUdigital 2019” เพื่อสร้างการรับรู้ในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเปิดเวทีสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงกระบวนความคิดใหม่ที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีไปสู่กระบวนการเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 5 – 6 มกราคม 2562 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ชื่องาน “EDUdigital 2019” ในวันที่ 5 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น. ห้องป่าสักหลวง โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน” โดยยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ พัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดีเก่ง และมีคุณภาพ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมให้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สัมฤทธิ์ผลในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดการสร้างงานในโลกดิจิทัล การสนับสนุนให้เกิดผลการผลิตและบริการด้านปัญญา ประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลอย่างเสมอภาคและทั่วถึง ซึ่งครอบคลุมถึงความปลอดภัยไซเบอร์ การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ยิ่งไปกว่านั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการ 5 ข้อ ที่ถูกกำหนดให้เป็นแนวทางในการบริหารราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นั่นคือ
- การสร้างการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอินเทอร์เน็ต
- การส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงระบบดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
- การนำวิธีวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Data Analysis ,ส่งเสริมการเรียนรู้
- การส่งเสริมการศึกษาด้านดิจิทัล
- การรวบรวมข้อมูลด้านการจราจร
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมสนองนโยบายดังกล่าวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันและให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ชื่องาน “EDU digital 2019” เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่ล้ำสมัย ข้อมูล แหล่งเรียนรู้ ครอบคลุมถึงเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ และจุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีไปบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งในและนอกชั้นเรียน โดยการจัดเวทีสัมมนาให้ผู้เข้าประชุมเห็นกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาพลิกโฉมการศึกษาไทย การป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์ และครูผู้เข้าประชุมจะได้ฝึกปฏิบัติเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้จริงกับนักเรียนทั้งในและนอกชั้นเรียน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและให้สอดรับกับแนวทางการบริหารจัดการการศึกษารูปแบบใหม่ ตอบสนองความต้องการในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการการขับเคลื่อนการศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล “EDUdigital 2019” เพื่อส่งเสริม กระตุ้น พัฒนาครูและนักเรียนให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตสืบไป
โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางศึกษาได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ ตลอด จนความล้ำสมัยของเครื่องมือ เทคโนโลยี นวัตกรรม ครอบคลุมถึงองค์ความรู้สำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดบูรณาการกับการเรียนการสอน ทั้งในและนอกชั้นเรียนได้อย่างเสมอภาค และทั่วถึง
2. เพื่อให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเกิดความตระหนักในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอินเตอร์เน็ต
3. เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้เทคโนโลยี ไปบูรณาการจัดการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย
เป้าหมายผู้ประชุมวิชาการขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 ,35,36,37 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 1 – 6 รวมจำนวนทั้งสิ้น 350 คน