เลขาธิการ กพฐ.ร่วมงานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2564

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขา ธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เพื่อชี้แจงแนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ที่มีกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งสื่อสารให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปรับทราบ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานของ สพฐ. ได้เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นอย่างดี โดยในช่วงระหว่างวันที่ 5-16 พ.ค. จะปรับการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนโรงเรียนและครูในการสอนออนไลน์ โดย สพฐ. จะปรับคลังสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด จำแนกไว้สำหรับนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำสื่อหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวยิ่งขึ้น จากนั้นในระหว่าง 17-31 พ.ค. จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจ รวมถึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาครูให้สามารถทำการสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้

สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนจะใช้การเรียนใน 5 รูปแบบเช่นเดิม ดังที่ได้เคยทดลองมาแล้วในช่วงการแพร่ระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา นั่นคือ 1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค 2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ 3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และ 5. On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน (17-31 พ.ค.) สพฐ. ได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ให้นักเรียนได้เลือกทำตามความสมัครใจ โดยเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นเรื่องการวัดประเมินผล แต่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ เช่น เรียนรู้การอยู่อย่างไรในช่วงโควิด-19 ให้มีความปลอดภัย หรือการทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว วาดภาพ ทำงานบ้าน ฝึกอาชีพ ก็สามารถทำได้ ในลักษณะเป็นงานอดิเรกสำหรับนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพื่อให้การเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 มิ.ย. สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการรับนักเรียน สพฐ. ได้ปรับปรุงปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 (ฉบับใหม่กรณีเปิดเทอม 1 มิ.ย. 64) โดยปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เลื่อนจากปฏิทินเดิม 2 สัปดาห์ ได้แก่ ชั้น ป.1 เลื่อนการจับฉลากและประกาศผล เป็นวันที่ 15 พ.ค. รายงานตัว-มอบตัววันที่ 16 พ.ค. ชั้น ม.1 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 22 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. จับฉลากวันที่ 24 พ.ค. ประกาศผลภายใน 24 พ.ค. และมอบตัววันที่ 29 พ.ค. ส่วนชั้น ม.4 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 23 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. ประกาศผลภายใน 25 พ.ค. รายงานและมอบตัวพร้อมกันวันที่ 30 พ.ค. โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่จัดสอนสำหรับเด็กพิการ/ผู้ด้อยโอกาส สอบ/คัดเลือกวันที่ 15-19 พ.ค. ประกาศผลภายใน 23 พ.ค. รายงานตัวและมอบตัวภายใน 29 พ.ค. ทั้งนี้ เด็กที่ยังไม่มีที่เรียนสามารถยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พ.ค. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. และมอบตัววันที่ 30 พ.ค. 2564 โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นศูนย์การรับนักเรียนสำหรับเด็กที่พลาดสอบเข้าโรงเรียนและยังไม่มีที่เรียน โดย สพท.จะจัดลำดับโรงเรียนที่ว่างไว้ให้ เพื่อให้เด็กได้มีที่เรียนทุกคน
“ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในโรงเรียน สพฐ. ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องทำการประเมินความพร้อม ให้สอดคล้องตามคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนด โดยจัดสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ห้องเรียน และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ให้มีการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เพื่อรับทราบข้อมูลจริงได้อย่างทันท่วงที” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อัฉรา/ ข่าว