วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบแนวทางและนโยบายเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ผ่านรายการพุธเช้าข่าว สพฐ.
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใยความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาเสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ออกไปอีก โดยเลื่อนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ทั่วประเทศ มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อความปลอดภัยของ นักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ลดการเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด 19 และเพื่อให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงรองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น
นายอัมพร พินะสา กล่าวต่อไปว่า ศบค.ซึ่งเป็นหน่วยควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ศบค. แบ่งพื้นที่ควบคุมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด พื้นที่สีแดงเข้มประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ , นนทบุรี ,ปทุมธานี และสมุทรปราการ 2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ยะลา, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สงขลา และ สุราษฎร์ธานี 3) และพื้นที่ควบคุมอีก 56 จังหวัด หรือ พื้นที่สีส้ม
สำหรับการสอบคัดเลือกนักเรียน ม.1 และ ม.4 วันที่ 22 – 23 พฤษภาคมนี้ โดย สพฐ.แบ่งพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการของ ศบค. และจากการประเมินสถานการณ์ จะเห็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและมีสถิติเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวัคซีนยังมีไม่มีเพียงพอต่อการให้บริการ ภายใต้ข้อจำกัดนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศเลื่อนเปิดการภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่การเลื่อนครั้งนี้มีเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้ 1) ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน Onsite คือไม่อนุญาตเด็กให้มาโรงเรียน รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ และห้ามบุคลากรหรือมีการมารวมกลุ่มของคนเกินกว่า 20 คน และให้เลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 2) จังหวัดอื่นก็สามารถเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปได้เช่นเดียวกัน หากโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด หรือ 56 จังหวัด ไห้ประเมินตนเองบนพื้นฐานความพร้อม โดยผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมกับคณะครู กรรมการสถานศึกษา และหากมีความประสงค์ที่จะเปิดเรียนก่อนวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ก็สามารถดำเนินการทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดนั้นๆ พิจารณา และหากได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โรงเรียนก็สามารถเปิดทำการเรียนการสอน Onsite คือให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะเปิดอนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียนได้แต่มาตการในการรักษาความปลอดภัยก็ยังต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้หากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดและเป็นพื้นที่สีแดง ต้องการเปิดสอนออนไลน์ ซึ่งจะต้องมีครูมาสอนออนไลน์ และมีความจำเป็นต้องใช้อาคารสถานที่ โรงเรียนจะต้องเสนอแผนมาตรการให้ครูมาสอนอย่างไรจึงจะปลอดภัย และต้องมาไม่เกิน 20 คน ตามมาตรการของ ศบค. กำหนด เสนอมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอมายัง สพฐ. และนำแผนเสนอขอไปยัง ศบค. พิจารณา เมื่อได้รับการพิจารณาอนุญาต โรงเรียนจึงจะสามารถเปิดเรียนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนที่ไม่อยู่ใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดง และจะมีการเปิดเรียน Onsite หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาจต้องใช้วิธีการสลับมาเรียน หรือรูปแบบอื่น และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ในส่วนของการสอบ ม.1 และ ม.4 สพฐ. ได้เสนอขออนุญาต ศบค.ให้เปิดใช้อาคารสถานที่ในการสอบคัดเลือก วันที่ 22-23 พฤษภาคม 2564 ทุกจังหวัด รวมถึง 4 จังหวัดในพื้นที่สีแดงด้วย และได้รับการอนุญาตให้จัดสอบได้ โดยให้สอบเฉพาะโรงเรียนที่มีผู้มาสมัครเกินจำนวนที่โรงเรียนรับได้เท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนมาสมัครไม่ครบตามจำนวนที่โรงเรียนต้องการ และต้องการสอบแบ่งห้องเรียนเท่านั้น ให้โรงเรียนนั้นงดการสอบคัดเลือกเพื่อลดการมารวมกลุ่มของคนเพราะถือว่านักเรียนมีที่เรียนแล้ว อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่ห่วงใยถึงความปลอดภัย และขอย้ำว่าไม่ให้มีการรวมกลุ่ม และนำนักเรียนไปรวมกลุ่มไว้ในที่เดียวกัน โดยให้จำแนกนักเรียนตามห้องสอบให้เรียบร้อยเพื่อลดการแออัด ห้องสอบต้องมีอากาศถ่ายเท และดำเนินการสอบให้เสร็จในภาคเช้าเท่านั้น งดการทานอาหารในเวลาเที่ยง และอนุญาตให้นักเรียนที่สอบเสร็จก่อนเวลากลับบ้านก่อนได้
“เมื่อเลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แล้วจะส่งผลอย่างไรหรือไม่ในการปิดภาคเรียน ซึ่งตามประกาศเดิมปิดเรียนในวันที่ 11 ตุลาคม และเปิดเรียนวันที่ 1 พฤศจิกายน ดังนั้นเรื่องของเวลาเรียนทดแทนให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนว่าจะชดเชยอย่างไรเพื่อให้ได้วันเวลาเรียนครบถ้วนตามหลักสูตร อย่างไรก็ตามขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พิจารณารูปแบบการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู ผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง นักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ ไม่บังคับว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนเดียวกันต้องเรียนเหมือนกัน การตัดสินใจใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ขออนุญาตกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นายอัมพร กล่าว