วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกล เพื่อมอบนโยบายสำคัญในการเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และเตรียมการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รวมทั้งการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการทุกสำนัก ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ถ่ายทอดสดจากห้องปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใยความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้พิจารณาเสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ทั่วประเทศ มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไป เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ลดความเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรทางการศึกษา และรองรับการย้ายสถานศึกษาของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น
โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ศบค. ได้แบ่งพื้นที่ควบคุมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่สีแดงเข้ม เป็นส่วนที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ 2) พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี สมุทรสาคร สงขลา และสุราษฎร์ธานี 3) พื้นที่สีส้ม หรือพื้นที่ควบคุม อีก 56 จังหวัดที่เหลือ โดย ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตรการการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามระดับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ขณะที่พื้นที่สีแดง 17 จังหวัด ให้ใช้อาคารสถานที่เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีส้ม ให้เปิดเรียนได้ตามมาตรการของ ศบค.
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนที่เลื่อนไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายนนี้ มีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1) ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site คือไม่อนุญาตให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียน รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ และห้ามบุคลากรหรือมีการมารวมกลุ่มของคนจำนวนเกินกว่า 20 คน และให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เท่านั้น 2) จังหวัดอื่นสามารถเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปได้เช่นเดียวกัน หากโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด หรือ 56 จังหวัด ให้ทำการประเมินตนเองบนพื้นฐานความพร้อม โดยผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมกับคณะครู และกรรมการสถานศึกษา หากมีความประสงค์ที่จะเปิดเรียนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน ให้ทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดนั้นๆ พิจารณา และหากได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โรงเรียนก็สามารถเปิดทำการเรียนการสอนแบบ On-Site คือให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ ซึ่งแม้ว่าจะอนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียนได้แต่มาตการในการรักษาความปลอดภัยก็ยังต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ หากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ต้องการเปิดสอนออนไลน์ ซึ่งจะต้องมีครูมาสอนออนไลน์ และมีความจำเป็นต้องใช้อาคารสถานที่ โรงเรียนจะต้องเสนอแผนมาตรการที่ครูสามารถมาสอนได้อย่างปลอดภัย และต้องมาไม่เกิน 20 คน ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด โดยดำเนินการเสนอมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอต่อมาที่ สพฐ. และ สพฐ. จะนำแผนเสนอขอไปยัง ศบค. พิจารณา เมื่อได้รับการพิจารณาอนุญาต โรงเรียนจึงจะสามารถเปิดเรียนออนไลน์ได้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่อยู่ใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และจะมีการเปิดเรียน On-Site หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาจต้องใช้วิธีการสลับมาเรียน หรือรูปแบบอื่น และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย นอกจากนั้น หากต้องการเปิดภาคเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ดำเนินการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus (TSC+) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี 44 ข้อ โดยต้องผ่านทุกข้อ และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้นสามารถจัดการเรียนการสอนได้ก่อนวันที่ 14 มิ.ย. 2564
ในส่วนของการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 สพฐ. ได้เสนอขออนุญาต ศบค.ให้เปิดใช้อาคารสถานที่ในการสอบคัดเลือก วันที่ 22-23 พ.ค. 2564 ทุกจังหวัด รวมถึง 4 จังหวัดในพื้นที่สีแดงด้วย และได้รับการอนุญาตให้จัดสอบได้ โดยให้สอบเฉพาะโรงเรียนที่มีผู้มาสมัครเกินจำนวนที่โรงเรียนรับได้เท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนมาสมัครไม่ครบตามจำนวนที่โรงเรียนต้องการ และต้องการสอบแบ่งห้องเรียนเท่านั้น ให้โรงเรียนนั้นงดการสอบคัดเลือกเพื่อลดการมารวมกลุ่มของคน เพราะถือว่านักเรียนมีที่เรียนแล้ว และขอย้ำว่าไม่ให้มีการรวมกลุ่ม หรือนำนักเรียนไปรวมกลุ่มไว้ในที่เดียวกัน โดยให้จำแนกนักเรียนตามห้องสอบให้เรียบร้อยเพื่อลดการแออัด ห้องสอบต้องมีอากาศถ่ายเท รวมถึงดำเนินการสอบให้เสร็จในภาคเช้าเท่านั้น และอนุญาตให้นักเรียนที่สอบเสร็จก่อนเวลากลับบ้านก่อนได้
“เมื่อเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิ.ย.แล้ว ในเรื่องของเวลาเรียนทดแทนให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนว่าจะชดเชยอย่างไรเพื่อให้ได้เวลาเรียนครบถ้วนตามหลักสูตร ขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณารูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู และผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้ แต่ก็ต้องไม่บังคับว่าเด็กทุกคนในโรงเรียนเดียวกันจะต้องเรียนเหมือนกัน การตัดสินใจใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการเรียนการสอนที่โรงเรียน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยขออนุญาตกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายในภาพรวมแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ยังได้ร่วมชี้แจงแนวทางการเตรียมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงขั้นตอนและมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน และแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาระหว่างเปิดภาคเรียน (ตามคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) รวมถึงการสำรวจและจัดทำข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) / นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงแนวทางการจัดการเรียนการสอนสำหรับสถานศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การสำรวจและจัดเก็บข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน สำหรับสถานศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) / และ ว่าที่ ร.ต. ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้แจงมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการจัดสอบคัดเลือกนักเรียน ชั้น ม.1 และ ม.4 ในแต่ละพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนด ศบค. ฉบับที่ 23 และแนวทางการจัดสอบคัดเลือกสำหรับนักเรียน กรณีเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือที่ต้องทำการกักตัว 14 วัน เป็นต้น