เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหารสำนัก ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 10/2564

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 10/2564 เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ความปลอดภัยของผู้เรียน แนวคิดการร่างแผนพัฒนานวัตกรรม และแผนสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลหรือเข้ารับบริการภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามมติ ครม. การรับ-ส่งหนังสือราชการในระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของ สพฐ. การลงเวลาปฏิบัติราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และความก้าวหน้าในการดำเนินการตามนโยบายของ รมว.ศธ. ข้อ 6 เรื่องการจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่หากโรงเรียนใดมีความพร้อมก็สามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้กว่า 12,000 โรงทั่วประเทศ โดยโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ให้จัดการเรียนการสอนทางไกลใน 4 รูปแบบ (On Air, Online, On Demand, On Hand ผ่านทางไปรษณีย์) เท่านั้น ขณะที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 รูปแบบ (On Site, On Air, Online, On Hand, On Demand) โดยรูปแบบ On Site นั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid+ (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน ซึ่งจากการติดตามการดำเนินงานของทุกโรงเรียนพบว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเรียบร้อยตามที่ได้เตรียมการไว้

“นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยถึงการนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) มาสู่การปฏิบัติ ในส่วนของวาระเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของ สพฐ. ได้แก่ การดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โรคไข้เลือดออก ความปลอดภัยจากการเดินทาง ฯลฯ โดยต้องการให้ทุกโรงเรียนสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ว่าจะสามารถเรียนได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย รวมถึงเรื่องของการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะพร้อมใช้ในปีการศึกษา 2565 การดูแลนักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (เด็กพิการและด้อยโอกาส) ซึ่งได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลทั่วประเทศ เพื่อดูว่ามีเด็กกลุ่มนี้อยู่ในจุดพื้นที่ไหน จำนวนเท่าใด ได้เรียนแล้วกี่คน และต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อจะได้หารูปแบบและวิธีการช่วยเหลือต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว