รมว.ศึกษาฯ ประกาศเดินหน้าปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นการพัฒนาสมรรถนะเด็กไทย ให้สามารถคิดเป็นทำเป็น เข้าใจรากฐานวิถีชีวิตแบบไทย และเป็นพลเมืองดีร่วมสร้างสรรค์สังคม

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ หลังจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการว่า คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะมุ่งที่การพัฒนาสมรรถนะของเด็กไทยใน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำเป็นกรอบหลักสูตร (Framework) ที่จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนสามารถนำไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้ แต่จะมีจุดร่วมกันในการสร้างสมรรถนะ ซึ่งโรงเรียนต้องมีการปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน ได้คิด ได้ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ไม่ใช่กระบวนการสอนทางเดียวแบบเดิม

ยกตัวอย่างเช่นในการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองที่ดี นักเรียนจะต้องเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ดังเช่นเรียนรู้จากกิจกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนของตนเอง ไม่ใช่การเรียนรู้จากตำราแบบเดิมที่เด็กจะไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือตัวอย่างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นักเรียนจะไม่เพียงเรียนรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไร เมื่อใด แต่ต้องมีกระบวนการในการคิด วิเคราะห์ และร่วมอภิปราย เพื่อให้สามารถเข้าใจเหตุผล เรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่มีหลายท่านกังวลว่าหลักสูตรใหม่จะขาดความเข้มข้นในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน อยากทำความเข้าใจว่า ความรู้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดสมรรถนะ แต่กระบวนการเรียนรู้จะไม่ได้เริ่มจากการให้ความรู้ก่อน แต่จะเริ่มจากกระบวนการคิด การตั้งคำถาม และการกระตุ้นความสนใจของนักเรียนก่อน เมื่อนักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้แล้ว เขาก็จะค้นหาความรู้และคำตอบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้เด็กมีการพัฒนาอย่างแท้จริง

ในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าครูต้องมีการปรับวิธีการเรียนการสอนครั้งใหญ่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการรองรับในการพัฒนาครู ให้พร้อมกับหลักสูตรใหม่นี้ โดยจะเน้นการพัฒนาทั้งระบบโรงเรียน (School-based development) โดยครูจะได้เรียนรู้และพัฒนาจากห้องเรียนจริง จะไม่ใช่การนำครูมาอบรมนอกห้องเรียนแบบเดิมๆ และผู้อำนวยการโรงเรียนจะทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านวิชาการของโรงเรียนในการพัฒนาการเรียนการสอนทั้งระบบ นอกจากนี้จะได้นำโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ดีมาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ และจัดระบบสนับสนุนด้านวิชาการจากทีมวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ ที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น

“สำหรับในปีการศึกษานี้ กระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการวิจัยและทดลองใช้หลักสูตรแบบใหม่ในโรงเรียนนำร่องซึ่งอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 286 แห่ง ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ จะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะมีการประกาศใช้จริงในปี พ.ศ. 2565” รมว.ศธ. กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาหลักสูตรได้ที่เว็บไซต์ https://cbethailand.com และเฟซบุ๊กเพจ : CBE thailand