เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหารสำนัก ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 12/2564

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 12/2564 เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง-จิตอาสา มาตรฐานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนคุณภาพ การเรียนแบบ Active Learning การใช้งานระบบ e-Saraban การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ การบริหารความเสี่ยง และระบบการลงเวลาปฏิบัติราชการ เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อสามารถเตรียมการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่นักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามนิเทศการจัดการเรียนการสอนหลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 เพื่อรับทราบว่าหลังจากเปิดเทอมแล้วมีปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ หรือมีส่วนใดที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้ โดยสถานศึกษาสามารถเลือกใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานใน 5 รูปแบบ ตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ยกเว้นสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบทางไกลเท่านั้น ได้แก่ ON-LINE, ON-AIR, ON-DEMAND, และ ON-HAND ผ่านทางไปรษณีย์ พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร เด็กทุกคนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้
นอกจากนี้ ในส่วนของการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) เพื่อเป็นศูนย์ดําเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงศึกษาธิการ ในการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยําและรวดเร็ว โดยใช้การวางแผนการดําเนินงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ได้อย่างทันสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่
“สิ่งสำคัญที่ครูและนักเรียนต้องตระหนักในตอนนี้คือการประเมินตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น Thai Save Thai “ไทยประเมินเซฟไทย ครัวเรือนปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด“ หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงให้ไปพบแพทย์และไม่ต้องมาสถานศึกษา พร้อม 6 มาตรการหลักที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ 1.การคัดกรอง : มีมาตรการคัดกรอง วัดไข้และอาการเสี่ยง ก่อนเข้าสถานศึกษา 2.การสวมหน้ากากอนามัย : สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาเมื่ออยู่สถานศึกษา 3.ล้างมือให้สะอาด : ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล อย่างเพียงพอ 4.Social Distancing : จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร 5.ทำความสะอาดสม่ำเสมอ : ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6.ลดความแออัด : ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน ในกรณีเรียนในห้องแอร์ ให้ปิดแอร์ และระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว