วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 7/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการดำเนินงานอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความยืดหยุ่นในการวัดและประเมินผล การจัดการเรียนการสอน และการประเมินคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษา ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงการรวม/การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การขยายชั้นเรียน และการเลิกขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยกันถึงเรื่อง ระดับสมรรถนะดิจิทัล (Digital Competency : DC) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง โดยขั้นพื้นฐานจะมี 3 ขั้น ขั้นกลาง 2 ขั้น และขั้นสูง 2 ขั้น รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ขั้น และในแต่ละระดับต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นใน 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ ทั้งนี้มีการกำหนดว่าในแต่ละระดับต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นมากน้อยอย่างไร แล้วจึงยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับครูในปัจจุบันและครูในอนาคต อย่างเช่นคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ที่ผลิตครู ก็สามารถจัดเตรียมนักศึกษาที่เรียนทางด้านครูให้มุ่งเน้นเข้าไปสู่ทักษะดังกล่าวนี้ได้ และยังสามารถเข้ารับการทดสอบที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศูนย์ HCEC) ของกระทรวงศึกษาธิการได้
นายเอกชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ มีความกังวลในเรื่องของตัวชี้วัดประเมินผล ซึ่งต้องมาคุยกันว่าทำอย่างไรที่จะให้ตัวชี้วัดเป็นตัวที่จำเป็นจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเด็ก เพราะหากยังใช้ตัวชี้วัดแบบเดิมก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ โดยครูจะต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนสอน เพราะปัญหาของการเรียนออนไลน์ตอนนี้คือการยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะให้เด็กมานั่งหน้าจอตลอดเวลาตั้งแต่ 08.00-12.00 น. ที่ประชุมก็ได้เสนอว่าครูอาจจะนำวิชาเดียวกันมาเรียนต่อเนื่องกันในครั้งเดียวไปเลย หรือในกรณีที่ครูสอนแล้วมีการอัดคลิปวิดีโออยู่แล้ว เด็กบางคนที่ไม่สะดวกเข้าเรียนในช่วงเวลานั้นๆ ก็สามารถเลือกเวลาเรียนที่ตัวเองสะดวกได้ จะทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจในการเรียนมากกว่า
“ในส่วนของการควบรวมสถานศึกษา ในช่วงระยะเวลา 4 ปี พบว่ามีการควบรวม 208 โรงเรียน เลิกสถานศึกษา 190 โรงเรียน นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้สนับสนุนให้มีการเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ-จีน (English Chinese Program : ECP) ในโรงเรียนของ สพฐ. โดยให้เด็กเรียนทั้งสองกลุ่มวิชาในโรงเรียนเดียว เช่น หากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวจีนเยอะ ก็อาจจะเปิดห้องเรียน ECP โดยสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนอย่างเข้มข้น หรือจะสอนภาษาอังกฤษเข้มข้นและภาษาจีนขั้นพื้นฐานก็ได้ เพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาของเด็กที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่” ประธาน กพฐ. กล่าว