สพฐ. จัดอบรมพัฒนาศึกษานิเทศก์ ปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ (Webinar)

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมพัฒนาศึกษานิเทศก์ ปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการนิเทศการศึกษาให้แก่ศึกษานิเทศก์ทุกระดับ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีศึกษานิเทศก์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,580 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,723 คน รวมถึงศึกษานิเทศก์สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และสังกัดเมืองพัทยา จำนวน 857 คน เข้าร่วมการอบรม

ทั้งนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักถึงความสำคัญของศึกษานิเทศก์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education) โดยให้ศึกษานิเทศก์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับเขตพื้นที่การศึกษา จึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ให้พร้อมกับการปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ จึงได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาศึกษานิเทศก์ โดยเชื่อมโยงความรู้ทางด้านการสอนและเทคโนโลยี ต่อยอดด้วยศาสตร์ด้านการพัฒนาครู การสร้างชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community) การนิเทศการศึกษาแนวใหม่โดยใช้กระบวนการวิจัยที่เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการใช้งานฐานวิจัยในการทำงาน ให้สามารถทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา และเป็นผู้เชื่อมโยงสรรพศาสตร์นำไปสู่การปฏิบัติให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะได้อย่างมีคุณภาพ

สำหรับรูปแบบการพัฒนา ประกอบด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบผสมผสาน ทั้งการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) การเรียนรู้ ค้นคว้า และศึกษาเอกสารด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย (Assignment) ผ่านระบบ Web-based Training และการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยกำหนดการพัฒนาเป็นระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสัมมนาออนไลน์ (Webinar) โดยเรียนรู้จากการรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง บนแพลตฟอร์มที่กำหนด (webinar.esdc.go.th) ระยะที่ 2 การศึกษาด้วยตนเอง (Self-learning) โดยการศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติงานในประเด็นที่ได้รับมอบหมาย (Assignment) จำนวน 3 ชิ้นงาน และระยะที่ 3 การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อลงมือปฏิบัติจริงหลังการเรียนความรู้ภาคทฤษฎีจากการอบรมสัมมนาออนไลน์ และการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการทำชิ้นงานที่ได้รับมอบหมายผ่านระบบ Web-based Training ซึ่งผู้เข้ารับการพัฒนาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาในทุกระยะตามลำดับข้างต้น

“จากการอบรมครั้งนี้ คาดว่าศึกษานิเทศก์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากทุกสังกัด จะได้เพิ่มพูนสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการเป็นศึกษานิเทศก์ผู้นำทางวิชาการ สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาไปสู่การนิเทศการศึกษาแนวใหม่ โดยใช้กระบวนการวิจัยที่เป็นการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการใช้งานฐานวิจัยในการทำงาน ให้สามารถทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับชั้นเรียนและระดับสถานศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว