สพฐ. จับมือสมาคมกีฬา คาราเต้-ลอนเทนนิส ร่วมพัฒนาทักษะกีฬาในโรงเรียน

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ สมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาทักษะกีฬาคาราเต้โด และกีฬาเทนนิสให้แก่นักเรียน ให้สามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางด้านกีฬาได้ โดยมี พลเอกสุรชาติ จิตต์แจ้ง นายกสมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และนายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อุปนายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงาน ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 กระทรวงศึกษาธิการ

นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายด้านคุณภาพ ในจุดเน้นที่สาม “หนึ่งดนตรี หนึ่งกีฬา หนึ่งอาชีพ เลือกได้ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน” จึงได้แสวงหาความร่วมมือและสนับสนุนให้มีการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในโรงเรียน กับสมาคมกีฬาคาราเต้แห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีความสนใจในกีฬาทั้ง 2 ชนิดนี้ หันมาเล่นกีฬาในเวลาว่างเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรงและพัฒนาความสามารถด้านกีฬาให้ดียิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนให้ฝึกฝนจนมีความสามารถในการแข่งขันก็จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันหรือประเทศชาติได้

“สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา ได้แก่ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนที่มีความสนใจ และประสงค์เข้ารับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านกีฬาตามมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรมของทางสมาคมกีฬาฯ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือฯ ดังกล่าว ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการพัฒนาและนำความรู้ที่ได้ไปจัดกิจกรรมลงสู่ห้องเรียน เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความเป็นเลิศในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางด้านกีฬา สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นคนที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักปฏิบัติตามกฎระเบียบของกติกา ค้นพบตนเองและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ มีการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม มีผลงานในการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริม “การนำกีฬาสู่ระบบการศึกษา” อย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอีกด้วย” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว