เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหารสำนัก ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 14/2564

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 14/2564 เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ การรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การดำเนินงานโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา รายงานสรุปผลปัจจัยที่สร้างความผาสุกในการทำงานของบุคลากร สพฐ. (ส่วนกลาง) และร่างกรอบแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้มีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อติดตามผลการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. รวมถึงข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในส่วนของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรของ สพฐ. เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลช่วยเหลือบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 123,601 ราย แบ่งเป็นครู 113,653 ราย และบุคลากร 9,948 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 22,998 ราย แบ่งเป็นครู 19,319 ราย และบุคลากร 3,679 ราย ซึ่งจะดำเนินการเร่งรัดให้ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนจนครบทั้งประเทศต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการระบาดไปทั่วประเทศ จนทำให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย สพฐ. ซึ่งมีสถานศึกษาในสังกัดเป็นจำนวนมาก มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนให้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระยะต้น ไม่รุนแรง (หรือระดับสีเขียว) เพื่อใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่รักษาขั้นเบื้องต้น ซึ่งจากการรายงานข้อมูลล่าสุด พบว่าในขณะนี้มีการอนุญาตใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว รวมทั้งสิ้น 276 โรงเรียน

“สพฐ. ได้แจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดพิจารณาใน 2 กรณี ได้แก่ ในกรณีที่มีอาคารสถานที่ที่ไม่ได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว เช่น สถานศึกษาที่ยุบรวม ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนามได้ และในกรณีที่สถานศึกษาไม่ได้จัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ (ON-SITE) หรือการเรียนที่โรงเรียน เมื่อมีคำร้องขอใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนาม ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนามได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและสังคม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว