สพฐ. ลงนาม MOU กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ พร้อมยกระดับสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ

คลิกชมคลิป https://youtu.be/RQGrDKgb7Kc

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Collaborative Assessment ความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อยกระดับให้สถานศึกษาสังกัด สพฐ. เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ โดยทำการลงนาม ณ ห้องทำงานเลขาธิการ กพฐ. อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ และเผยแพร่ไปยังสาธารณชนผ่านระบบออนไลน์ ตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรในเชิงลึก และยกระดับพัฒนาการ (Maturity) ขององค์กรในสังกัดของ สพฐ. ให้เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) อีกทั้งเพื่อให้ สพฐ. มีต้นแบบองค์กรที่เป็นเลิศ สำหรับการศึกษาเรียนรู้ เผยแพร่ เพื่อให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้กับสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่กำลังใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในการพัฒนาองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะจัดกิจกรรมการให้คำปรึกษา แนะนำ การจัดทำแผนปรับปรุงสถานศึกษาตามแนวทางโครงการ Collaborative Assessment ที่มุ่งเน้นผลการยกระดับพัฒนาการขององค์กร พร้อมทั้งจัดทีมผู้เชี่ยวชาญศึกษาผลการตรวจประเมินสถานศึกษา การนำเสนอวิธีการปฏิบัติ และผลลัพธ์ด้านต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงการบริหารจัดการ ตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป

“ตามที่ สพฐ. มีนโยบายในการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านกิจกรรมหรือกลยุทธ์ใน 4 ข้อ คือ ทำอย่างไรโรงเรียนจึงจะมีความปลอดภัย สามารถสร้างโอกาสให้กับนักเรียนทุกคนทุกกลุ่ม เสริมสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียน และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้น เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สพฐ. จึงได้ร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันยกระดับการบริหารจัดการโรงเรียนให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพในอนาคต โดย สพฐ. จะเริ่มทดลองนำร่องใน 3 โรงเรียนก่อน ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดม โรงเรียนสวนกุหลาบนนทบุรี และโรงเรียนอนุบาลภูเก็ต ซึ่งหากการนำร่องใน 3 โรงเรียนนี้ประสบความสำเร็จ เราก็จะขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับวงการศึกษาในอนาคตได้อย่างแน่นอน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อัฉรา ข่าว