วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากติดต่อกันหลายวัน และมีการระบาดจากพื้นที่สีแดงเข้มกระจายไปทั่วประเทศ จนทำให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนและสังคม รวมทั้งแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีสถานศึกษาในสังกัดเป็นจำนวนมาก มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนให้เป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระยะต้น ไม่รุนแรง (ระดับสีเขียว) เพื่อใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่รักษาขั้นเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลักในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต้องร่วมมือกัน ในการฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคที่พี่น้องประชาชนกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งโรงเรียนก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนมาโดยตลอด วันนี้บ้านเมืองเรากำลังเผชิญกับวิกฤติอย่างรุนแรง ถือเป็นโอกาสอันดีที่สถานศึกษาจะได้ดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือแม้แต่ชาวบ้านที่เจ็บป่วยอยู่ในชุมชนก็ดี เมื่อทำการตรวจพบเชื้อแล้ว ก็ต้องมีสถานที่พักคอยเพื่อรอการส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ก็ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเห็นด้วยว่าถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาให้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ จากการรายงานข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 27 ก.ค. 2564 พบว่าในขณะนี้มีการอนุญาตใช้อาคารสถานที่ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย รวมถึงหน่วยบริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 510 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงพยาบาลสนาม 57 โรง โรงพยาบาลสนามสำรอง 12 โรง โรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัว 16 โรง สถานที่กักตัว 281 โรง สถานที่พักคอย 134 โรง สถานที่แวะเข้าห้องน้ำ 9 โรง หน่วยคัดกรอง (Swab) 1 โรง และ 2 ค่ายลูกเสือ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 12,358 เตียง
สำหรับการขออนุญาตให้สถานศึกษาเป็นโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักคอยนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งเราเชื่อว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด ก็จะรู้สถานการณ์จริงและพิจารณาได้ว่าควรจะอนุญาตให้ใช้มากน้อยเท่าไหนอย่างไร รวมถึงต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียนด้วย เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่าทั้งกรรมการสถานศึกษาและชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนนั้น ทราบดีว่าผู้ที่จะมาใช้บริการไม่ใช่ใครอื่น แต่คือเด็กเยาวชนและผู้คนในชุมชนนั่นเอง ซึ่งต้องขอบคุณคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ใหญ่ในชุมชนที่ได้อนุญาตให้ใช้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่พักคอยทั่วประเทศในเวลานี้เป็นจำนวนมาก
“ในการใช้อาคารสถานที่ดังกล่าว จะมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือ ทั้งการดูแลผู้ป่วย การจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงการทำความสะอาดสถานที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และการจัดการกับขยะติดเชื้ออย่างเหมาะสม ขอให้นักเรียนและผู้ปกครอง ครู และชุมชนใกล้เคียง มีความมั่นใจว่าอาคารสถานที่ในโรงเรียนที่ใช้จัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวหรือสถานที่พักคอย จะมีความปลอดภัย สะอาด ถูกสุขลักษณะ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
คลิป https://www.facebook.com/294100504293772/posts/1412725475764597/
- สพฐ. เดินหน้าเรียนดีมีความสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 37/2567 - 17 กันยายน 2024
- สพฐ. เร่งสอบข้อเท็จจริง ครูสาวสอบได้ที่ 1 ชื่อหาย ย้ำต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา - 16 กันยายน 2024
- สพฐ. ประชุม ผอ.สพท. ยุคใหม่ เดินหน้าสานต่อ “เรียนดี มีความสุข” - 15 กันยายน 2024