สพฐ. จับมือมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดระบบเรียนออนไลน์ หลักสูตร “เรียนรู้การยุติการรังแก สำหรับนักเรียน”

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ผอ.ฉก.ชน.) เป็นประธานในพิธีเปิดระบบการเรียนออนไลน์ หลักสูตร “เรียนรู้การยุติการรังแก สำหรับนักเรียน ภายในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย” พร้อมทั้งมอบนโยบายการป้องกันการรังแกในโรงเรียน เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้านสังคม ด้วยการยุติการรังแกภายในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผอ.ฉก.ชน. กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลที่ได้มีการสำรวจ พบว่าประเทศไทยมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละกว่า 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนักเรียนที่อยู่ในวงจรการรังแก อยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 40 % โดยลักษณะการรังแกที่พบมากที่สุดคือการรังแกทางวาจา มีจำนวนสูงถึง 40.9% ของผู้เข้าตอบแบบสำรวจ 23,787 คน จาก 1,324 โรงเรียนทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ผู้รังแกมักไม่รู้ตัว แต่ส่งผลกระทบกับผู้ถูกรังแก ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งพบว่านักเรียนที่เป็นผู้ถูกรังแก ได้รายงานว่าการถูกรังแกมีผลต่อความรู้สึกต่อตนเอง (27%) ต่อความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และครอบครัว (19%) ต่อการเรียน (19%) และต่อสุขภาพร่างกาย (14%) (ข้อมูลโดย National Center for Educational Statistics, 2019)

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน และมูลนิธิรักษ์ไทย จึงได้ร่วมดำเนินงานโครงการ “นักเรียนก้าวทันยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย” ซึ่งโครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้นักเรียนลดการรังแกทั้งในโรงเรียนและในโลกไซเบอร์ รวมทั้งครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่าย ได้ตระหนักรู้เท่าทัน เข้าใจ รับรู้ว่าการล้อ แกล้ง รังแกกัน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และทำให้เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัด สพฐ. ได้รับการเสริมสร้างคุณค่า การรับรู้ และพฤติกรรม ที่เข้าใจการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย พร้อมทั้งเข้าใจอิทธิพลสื่อที่ไม่ได้สร้างการรังเกียจ การเกลียดชัง และพฤติกรรมรุนแรง และสามารถทดแทนโดยสื่อที่ดี มีความสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นให้ครูมีความเข้าใจและทักษะในการแนะนำ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่เด็กที่เป็นผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

นายนิสิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนออนไลน์ หลักสูตร “เรียนรู้การยุติการรังแก สำหรับนักเรียน ภายในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย” ที่ได้จัดขึ้นในวันนี้ จะเป็นการเผยแพร่ระบบการเรียนออนไลน์หลักสูตรดังกล่าว ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้านสังคม ด้วยการยุติการรังแกภายในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย โดยมี ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมบรรยายพิเศษ “ความสำคัญของการยุติการรังแก ที่มีผลต่อการศึกษาในสังคมไทย” และดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมบรรยายพิเศษ “ความคาดหวังการใช้สื่อดีที่เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันการรังแกในสถานศึกษา” รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “การยุติการรังแก สู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการดำเนินงานยุติการรังแกในโรงเรียนและโลกไซเบอร์ อาทิ ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ คุณพร้อมกูรณ์ อนิสสิต ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ และดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล เข้าร่วมการเสวนาด้วย

“ทั้งนี้ โครงการยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเรียนออนไลน์สำหรับครูและผู้บริหารในโรงเรียน คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวในเดือนกันยายน ซึ่งมูลนิธิรักษ์ไทย และศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียนทางด้านสังคม ในประเด็นยุติการรังแก เพื่อให้นักเรียนมีความสุขในการไปโรงเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และส่งผลสู่สังคมคุณภาพต่อไป” ผอ.ฉก.ชน. กล่าว