ผู้บริหาร สพฐ. ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 8/2564

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 8/2564 ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงและแก้ไข (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. ความยืดหยุ่นการนับเวลาเรียนตามเกณฑ์การตัดสินผลการเรียน รวมถึงการรวม /การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า จะมีการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก จะมีการขยายระยะเวลาการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ จากเดิมที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 เป็นการค่อย ๆ ปรับใช้ในกรอบระยะ เวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และปีการศึกษา 2567 จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะพร้อมกันในทุกโรงเรียน ทุกช่วงชั้น

ประการที่สอง จะมีการเพิ่มสมรรถนะหลัก จากเดิม 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ การสื่อสารด้วยภาษา การจัดการและการทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

นายเอกชัย กล่าวต่อไปว่า ได้มีการพิจารณาประเด็นการยืดหยุ่นการนับเวลาเรียนตามเกณฑ์การตัดสินผลการเรียน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนและวัดประเมินผลเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดรายวิชา ตัวชี้วัดตามหลักสูตร รูปแบบการสอน บทบาทของครู/ผู้ปกครอง การบ้าน การนับเวลาเรียน การวัดประเมินผล และหลักฐาน ปพ.1 เป็นต้น ซึ่งจะมีการแจ้งแนวทางให้กับโรงเรียนปรับใช้ต่อไป

“ในประเด็นการรวม /การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น มีการรวมสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 เขตพื้นที่ฯ จำนวน 5 โรงเรียน เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 เขตพื้นที่ฯ จำนวน 7 โรงเรียน และจะมีการขยายชั้นเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) จังหวัดชลบุรี สังกัดสำนักการศึกษาเมืองพัทยา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา 2565” ประธาน กพฐ. กล่าว