เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหารสำนัก ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 23/2564

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 23/2564 ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting โดยมีรองเลขาธิการ กพฐ. และผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยถึงเรื่องข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันสำหรับการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการเตรียมการ Kick Off “เปิดตัวโลกนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่” ตามนโยบาย Quick Win ด้านวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ทันสมัยในรูปแบบที่เหมาะสมกับชีวิตวิถีใหม่ ประกอบด้วยคลังนวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย “History Learning Innovation Warehouse” บนเว็บไซต์ OBEC Content Center รวมถึงนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นมา เช่น บทเรียน AR VR Time Machine ปฏิทินวันสำคัญ และ Webinar สร้างนวัตกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ที่มีความหมาย อีกทั้งสร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ

นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เกิดจากการที่มีเสียงสะท้อนว่าคนไทยไม่ค่อยสนใจหรือใส่ใจประวัติศาสตร์ ทั้งที่ในหลักสูตรการศึกษาก็ได้มีการบรรจุไว้อยู่แล้ว เราก็ได้มาคิดพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ มีการใช้เทคโนโลยี AR, VR เสมือนจริง เพื่อจุดประกายให้เด็กเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุก และครูก็ได้สอนอย่างมีความสุข พร้อมกับเตรียมจัดงาน Kick Off เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจให้เด็กและประชาชนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้เรื่องของตนเอง สังคมรอบข้าง และสังคมโลก การที่เราจะทำอะไรสักอย่างต้องดูว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร และแนวโน้มในภายภาคหน้าต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร จึงจะเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ซึ่งนวัตกรรมที่เราได้พัฒนาขึ้นนี้ไม่ใช่การเรียนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยเพียงอย่างเดียว แต่เราจะได้เรียนรู้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ว่าในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร มีความสำเร็จและผิดพลาดอย่างไร แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

“การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในทุกเรื่อง ทุกมิติ ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนแต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเท่านั้น แต่เราต้องศึกษาเพื่อรู้จักอดีต เข้าใจปัจจุบัน และนำไปกำหนดชีวิตในอนาคตได้ กระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของเด็กและคนไทยทุกคน” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว