รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 27/2564

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 27/2564 ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting โดยมีผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาทิ การรายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงรายงานการดำเนินงาน Education Sandbox การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการประเมินตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้น

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยถึงเรื่องข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันสำหรับการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงรายงานการดำเนินงาน Education Sandbox เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการพบว่าโรงเรียนประจำหลายแห่งมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ On Site ได้ จึงร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแนวทาง Sandbox Safety Zone in School (SSS) เพื่อช่วยวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งเริ่มนำร่องในโรงเรียนประจำประมาณ 20 แห่ง ในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนประจำแห่งอื่นๆ ที่มีความพร้อมสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน มีการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Rapid Antigen Test เน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบ Bubble and Seal พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งมีระบบติดตามครูและบุคลากรอย่างเข้มงวด ทำการเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วัน หรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา และมีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai Save Thai อย่างสม่ำเสมอ

“สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่อง 20 โรงเรียน มีทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และแนวปฏิบัติของ Sandbox Safety Zone in School โดยต้องประเมินตนเองให้พร้อมในการเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus ในส่วนของโรงเรียนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จะยังคงต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์เช่นเดิม รวมถึงมีการกำชับครูไม่ให้สอนต่อเนื่องจนเกินไป เพราะอาจทำให้นักเรียนประสบปัญหาออฟฟิศซินโดรมจากการนั่งเรียนนานๆ โดยครูอาจต้องปรับเปลี่ยนให้มีกิจกรรมระหว่างเรียนด้วย ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ เก็บรวบรวมข้อมูลจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อติดตามความก้าวหน้า และนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงขยายผลในการทำงานต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว