ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน ของโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม

วันที่ 6 กันยายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม ประกอบด้วยโรงเรียนวัดธรรมศาลา โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม และโรงเรียนสุคนธีรวิทย์ จ.นครปฐม เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครองและนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนภายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายมติชน มูลสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา และคณะครูอาจารย์ ให้การต้อนรับ

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า วันนี้ตนได้ลงพื้นที่หลายโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองและนักเรียนในอัตรา 2,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ซึ่งในขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการโอนเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด ศธ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ประมาณ 10.8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท

สำหรับสถานศึกษาทุกแห่ง เมื่อได้รับการจัดสรรเงินตามมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไปแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการโอนเงินหรือจ่ายเงินสดให้ถึงมือผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา อย่างเต็มจำนวนโดยเร็ว โดยไม่มีการหักเงินค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลต้องการให้เงินนี้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า และอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนในกรณีของสถานศึกษาหรือนักเรียนที่อาจได้รับเงินเยียวยาล่าช้า เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือเป็นนักเรียนที่ได้มีการโยกย้ายสถานที่เรียนหลังจากการอนุมัติโครงการแล้ว ทำให้เกิดรายชื่อตกหล่น ในส่วนนี้ได้ประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งติดตามและดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้เงินลงไปถึงมือผู้ปกครองและนักเรียนครบถ้วนทุกคน

“นอกจากการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองและนักเรียนแล้ว ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับครูและนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการจัดสรรวัคซีนล็อตใหม่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือการมาเรียนที่โรงเรียน หรือการเรียนแบบ On Site เพราะนักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ได้เจอคุณครู ได้เรียนในห้องเรียนจริงๆ ซึ่งการที่เด็กมาโรงเรียนถือเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด ในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ ศบค.ศธ. ติดตามสถานการณ์ของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในจังหวัดนครปฐม ที่อยู่ในพื้นที่ความดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 1 มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 121 โรงเรียน มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 30,851 คน แบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา จำนวน 6,960 คน ระดับประถมศึกษา จำนวน 22,011 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 1,880 คน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 61,700,200 บาท

ในส่วนของการดำเนินงานของ สพป.นครปฐม เขต 1 ได้แจ้งแนวทางการดำเนินงานให้แก่สถานศึกษาได้เตรียมการตามระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยสถานศึกษาทุกแห่งได้เริ่มจ่ายเงินให้ผู้ปกครองนักเรียนตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้พบว่าโรงเรียนในสังกัดมากกว่าร้อยละ 80 ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้ปกครองทุกคนเรียบร้อยแล้ว และพบว่าโรงเรียนในสังกัดส่วนใหญ่ จ่ายเงินให้ผู้ปกครองด้วยวิธีการจ่ายด้วยเงินสด ร้อยละ 80 และจ่ายด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ปกครองหรือนักเรียน ร้อยละ 20 ทั้งนี้ยังไม่พบปัญหาขั้นตอนการจ่ายเงินแต่อย่างใด

“หลังจากนี้ทางเขตพื้นที่ฯ จะเร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียนในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของการลงพื้นที่ตรวจติดตาม พบว่าผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากต่อโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ นับว่าเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

พร้อมกันนั้น เลขาธิการ กพฐ. ยังได้มอบหมายให้ผู้บริหารของ สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ เพื่อติดตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาฯ โดยนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลบางกรวย (วัดศรีประวัติ) อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ (พิบูลบำรุง) อ.เมือง จ.นนทบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งให้ขวัญกำลังใจแก่คณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง อีกด้วย